นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบริษัท รุ่งตะวัน เนอร์สซิ่งแคร์ จำกัด กรุงเทพมหานคร หลังใช้จัดตั้ง “ศูนย์พักคอยรุ่งตะวัน (Community Isolation)” แบบแนวตั้งชุมชนเมือง รูปแบบ Social Enterprise ที่ดำเนินการเพื่อสังคม ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย แยกออกจากครอบครัว เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค
มีระบบการจัดการในเรื่องการสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพของการดูแลรักษา และเน้นความปลอดภัยและคลายความกังวลต่อชุมชนรอบข้าง โดยจัดให้มีระบบการดูแลด้วยการใช้นวัตกรรม ลดการสัมผัส มีห้องความดันลบ (Negative pressure) กรองอากาศ โดยใช้ HEPA Filter ที่มีประสิทธิภาพ วางระบบการฟอกไต กรณีดูป่วยไตวาย โดยผ่านระบบผู้เชี่ยวชาญ มีการสร้างความรอบรู้ให้กับผู้ป่วย ญาติ และชุมชน ตลอดจนมีการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลที่ได้มาตรฐาน
สำหรับแนวทางปฏิบัติการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ
1.ด้านการจัดการขยะติดเชื้อ ผู้ปฏิบัติงานเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อต้องสวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมจัดให้มีภาชนะบรรจุ (ถุงแดง) และภาชนะรองรับมูลฝอยติดเชื้อ (ถังแดง) อย่างเพียงพอ มีการเก็บรวบรวมและเคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อตามเส้นทางและเวลาที่กำหนด จัดให้มีที่พักรวมขยะติดเชื้อที่แยกเฉพาะ และสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ รวมถึงประสานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้อง
2.ด้านการกำจัดน้ำเสีย ควรมีการจัดการน้ำเสียอย่างเหมาะสมก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก มีระบบการฆ่าเชื้อโรคที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาที่ปล่อยน้ำเสีย
3.ด้านการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล ให้ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม ด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที เน้นเช็ดถูบริเวณจุดเสี่ยง เช่น ที่รองนั่ง โถส้วม ฝาปิดโถส้วม ที่กดชักโครก ราวจับลูกบิด กลอนประตู ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวที่เตรียมไว้หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ และต้องสวมถุงมือยาง รองเท้ายาง ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาด