นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “โรคหูด” เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิด Human Papillomavirus ซึ่งเป็นเนื้องอก ชนิดไม่ร้ายแรงของผิวหนัง มีหลายชนิดและหลายขนาด รูปร่างจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น
หูดอาจจะมีรอยโรคเดียว หรือ ขึ้นหลายรอยโรคก็ได้ สามารถเกิดตามเยื่อบุและตามผิวหนังของร่างกาย โดยมักจะขึ้นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งที่อวัยวะเพศได้ พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน หูดติดต่อผ่านการสัมผัสได้ โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล
ส่วนใหญ่รอยโรค มักจะไม่มีอาการ นอกจากทำให้ดูไม่สวยงาม น่ารำคาญ ผู้ป่วยน้อยราย มักจะมีอาการเจ็บบริเวณตำแหน่งที่มีการกดทับ เช่น หูดที่ฝ่าเท้า ถ้าเสียดสีมากๆ อาจจะมีเลือดออกที่รอยโรคได้ และถ้ารอยโรคมีขนาดใหญ่จะเจ็บ ทำให้ไม่สามารถใส่รองเท้าได้
ประมาณสองในสามของหูดจะหายไปเองได้ในเวลา 12-24 เดือน โดยไม่ทิ้งรอยแผลไว้ และเมื่อหายแล้วก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก หากเป็นหูดที่อวัยวะเพศควรปรึกษาแพทย์ สำหรับการรักษาหูดมีหลากหลายวิธี ได้แก่
1.การรักษาด้วยการทายา ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก กรดแลคติก ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะง่ายและราคาไม่แพง ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังตามคำแนะนำวิธีการใช้ในแต่ละแบบ เพราะกรดมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงเนื่องจากใช้ความเข้มข้นค่อนข้างสูง และการทายาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มาทำลายหูด เช่น ยา Imiquimod, Diphencyprone or squaric acid topical immunotherapy
2.การจี้ทำลายรอยโรคด้วยเลเซอร์หรือการจี้ไฟฟ้า หลังทำเสร็จมักมีอาการปวด และอาจมีแผลเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีการดูแลรักษาแผลอย่างต่อเนื่อง
3.การจี้ไอเย็น โดยใช้ไนโตรเจนเหลว ข้อดี คือ ดูแลหลังการรักษาง่าย แต่อาจจะต้องจี้ซ้ำหลายครั้งแล้วแต่ขนาดและความหนาของรอยโรคจนกว่าจะหายขาด
4. การผ่าตัดรอยโรคออกไป คือ การผ่าตัดเอาก้อนหูดออกไป
ทั้งนี้ การรักษาหูด มักจะใช้เวลานาน อาจต้องใช้หลายวิธีการรักษาร่วมกัน และบางครั้งหลังการรักษาหูดอาจจะเกิดรอยแผลบริเวณที่ทำการรักษาได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าเป็นโรคหูด ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกวิธี