นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีนายจ้างเรียกร้องขอความช่วยเหลือต่อสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากต้องจ่ายค่ารักษา และค่าใช้จ่ายระหว่างพักฟื้นของลูกจ้างที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ระบุว่า เมื่อผู้ประกันตนมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก หายใจเหนื่อย หรือ สัมผัสผู้ป่วย ผู้มีความเสี่ยงสูง ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจ และเมื่อพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้ารับการตรวจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามประกาศของ กระทรวงสาธารณสุขในระบบ UCEP Covid-19 ของ สปสช.
ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ “โรคโควิด-19” เป็นโรคฉุกเฉิน…“โรคติดต่ออันตราย” ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นภาวะฉุกเฉินที่ทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการรักษาพยาบาล และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้นำเสนอคณะกรรมการสถานพยาบาลให้ประกาศเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ต้องรักษาผู้ป่วย
ในส่วนของการตรวจโควิด-19 โรงพยาบาลจะเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” ทั้งหมดแต่ในส่วนการรักษาพยาบาลหลังตรวจพบเชื้อจะเบิกจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มี เช่น สิทธิประกันสังคมเบิกจ่ายกับสำนักงานประกันสังคม สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง และสิทธิบัตรทองเบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายบริการทางการแพทย์แก่สถานพยาบาลและแพทย์ผู้ดูแลรักษาพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายประเภทผู้ป่วยใน ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ดังนี้
1. ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2. ค่าดูแลการให้บริการผู้ประกันตนที่ป่วย โดยเป็นค่าใช้จ่ายรวมค่าอาหาร 3 มื้อ การติดตามประเมินอาการ และการให้คำปรึกษา เหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อวัน ไม่เกิน 14 วัน
3. ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น ค่าปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น ค่าชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
4. ค่ายาที่ใช้รักษา
5. ค่าพาหนะเพื่อรับหรือส่งต่อผู้ป่วยระหว่างที่พัก โรงพยาบาลสนาม และสถานพยาบาล
6. ค่าบริการ X-ray ทรวงอก
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถขอใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล ที่รับผิดชอบการรักษาได้ เพื่อใช้ประกอบการเบิกขาดรายได้ โดยเงื่อนไขการเบิกขาดรายได้ จะพิจารณาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือ 30 วันแรกรับค่าจ้างจากนายจ้าง
หากมีความจำเป็นต้องหยุดพักรักษาตัวนานเกินกว่า 30 วัน ผู้ประกันตนสามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคม ได้ตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไป โดยพิจารณาระยะเวลาการเบิกขาดรายได้ตามปีปฏิทิน
หากในปีนี้ยังไม่มีการเบิกขาดรายได้เลย ต้องนับเกณฑ์ 30 วันก่อน และผู้ประกันตนสามารถยื่นเบิกขาดรายได้ ภายใน 2 ปี เมื่อรักษาหายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว ให้ติดต่อขอเบิกสิทธิประโยชน์ได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ