เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามแนวทางโครงการ Factory sandbox
ลงนาม โดยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณเหลือพร ปุณณกันต์ ประธานกรรมการการแพทย์ สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ระบุว่า เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานได้จัดทำข้อเสนอโครงการนำร่องเกี่ยวกับแรงงานในสถานประกอบกิจการและโรงงานตามโครงการ Factory Sandbox
เพื่อจัดการโครงสร้างและกระบวนการในลักษณะ “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” ที่ดำเนินการควบคู่กันระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตและอุตสาหกรรมการส่งออกขนาดใหญ่ อันประกอบด้วย 4 ภาคส่วน คือ ภาคส่วนยานยนต์ ภาคส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคส่วนอาหาร และภาคส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์
ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน โดยมีหลักการสำคัญ คือ ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล เพื่อให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย ให้ผู้ประกันตนในสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าทั้ง 4 ภาคส่วนดังกล่าว ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
นำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ดังนี้
- ระยะที่ 1 ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดปทุมธานี
- ระยะที่ 2 ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โดยให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ
โดยที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามแนวทางโครงการ Factory sandbox
โดยการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19” ด้วยเทคนิค RT-PCR เพื่อตรวจค้นหาผู้ประกันตนที่อาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการ
หากเป็นการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR แล้วมีผู้ติดเชื้อ ให้ประเมินศักยภาพในการดูแลรักษา และพิจารณาใช้วิธีสุ่มตรวจตามแนวทางของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนดและให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เป็นค่าตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และค่าบริการให้คำแนะนำ คำปรึกษาเพื่อติดตามดูแลและประเมินผลแก่สถานพยาบาล ดังนี้
1.ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี RT-PCRโดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 2 ยีน ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 1,500 บาท
2.ค่าบริการให้คำแนะนำ คำปรึกษาเพื่อติดตามดูแลและประเมินผล ตั้งแต่เริ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี RT-PCR จนกระทั่งสถานประกอบการได้รับการรับรอง “โรงงานผ่านมาตรฐาน sandbox” โดยต้องจัดทำรายงานข้อมูลของผู้ประกันตนรายบุคคล และข้อมูลสถานประกอบการให้สำนักงานทราบ เหมาจ่ายในอัตราคนละ 200 บาท
ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
อ่านประกาศฉบับเต็มที่นี่ >> http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/229/T_0032.PDF