นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ตุลาคม 2564 สืบเนื่องจากปริมาณมะพร้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ามะพร้าวภายใต้มาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้ามะพร้าวได้อย่างต่อเนื่อง มีวัตถุดิบป้อนโรงงานเพียงพอ และที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวภายในประเทศ
ครม.จึงมีมติเห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) ภายใต้ความตกลงการเกษตรของ WTO และความตกลง FTA สำหรับการนำเข้าสินค้ามะพร้าว ปี 2564 ตามมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เพื่อป้องกันการนำเข้ามะพร้าวมากเกินไป จนกระทบเกษตรกร
โดยในปี 2564 ได้กำหนดปริมาณนำเข้ามะพร้าว (Trigger Volume) ห้ามเกิน 311,235 ตัน หากนำเข้ามะพร้าวรวมกันเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume ที่กำหนดไว้ ให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีในอัตราเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 (เท่ากับอัตราปี 2563) จากอัตราภาษีปกติร้อยละ 54 สำหรับการนำเข้ามะพร้าว ภายใต้ความตกลง WTO นอกโควตา และอัตราร้อยละ 0 สำหรับการนำเข้ามะพร้าวภายใต้ความตกลง FTA
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าว ช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 โดยจัดสรรปริมาณนำเข้ามะพร้าวให้ผู้ประกอบการ 15 ราย ปริมาณรวม 78,477 ตัน เป็นการเข้าในอัตรา 1 : 2.5 คือ นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวในประเทศ 2.5 ส่วน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากอัตราส่วนก่อนหน้า 1 : 2 เพื่อส่งเสริมการใช้มะพร้าวในประเทศเพิ่มขึ้น
การใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) สำหรับสินค้ามะพร้าวนี้ จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตในประเทศและความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมมะพร้าวแปรรูป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านราคาต่อเกษตรกร และเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปให้มีเพียงพอและสม่ำเสมอ