ข่าวมีค่า ติดตามเรื่อง “แยกตัวที่บ้าน” ซึ่งถูกเสนอขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยแนวคิดที่จะให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการสามารถแยกตัวอยู่ที่บ้านได้ หากมีคุณสมบัติต่างๆ ตรงตามที่กำหนด เพื่อช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามมีมากเกินไป จนเสี่ยงต่อการมีเตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอในอนาคต
ที่มา
การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ แต่จากการที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดความกังวลว่าโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) อาจมีเตียงไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ติดเชื้อได้ และเมื่อรวมกับการที่ผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งไม่ได้มีอาการป่วยรุนแรง ทำให้แนวคิดเรื่องการให้ผู้ติดเชื้อแยกตัวที่บ้านถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา
“แยกตัวที่บ้าน” ไม่ต้องไปโรงพยาบาลสนาม
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขระบุว่าผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ควรแยกตัวจากผู้อื่นไม่น้อยกว่า 14 วัน และดูแลรักษาตามความเหมาะสม ทำให้ผู้ติดเชื้อถูกนำไปกักตัวไว้ที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นๆ แต่ล่าสุดมีการหยิบยกแนวทางการใช้ที่พักอาศัยเป็นสถานที่แยกตัวของ “กรมการแพทย์” มาเผยแพร่ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ และมีความพร้อมตรงตาม “คำแนะนำการปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19) ที่ไม่ได้เข้ารักษาตัวแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล” ฉบับวันที่ 16 เมษายน 2564 อาจให้แยกตัวอยู่ในที่พักอาศัยของตนเองได้
ผู้ติดเชื้อที่ “แยกตัวที่บ้าน” ได้
- เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Cases)
- อายุไม่เกิน 40 ปี
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง
- มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วน (ดัขนีมวลกาย 25 กิโลกรัม / เมตร2 หรือน้ำหนักตัว > 90 กิโลกรัม)
- ไม่มีโรคร่วมดังต่อไปนี้
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
- โรคไตเรื้อรัง (CKD)
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- โรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
“สถานที่” ที่ใช้แยกตัวได้
- ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่
- มีผู้จัดหาอาหารและข้าวของเครื่องใช้ให้กับผู้ติดเชื้อ
- มีห้องส่วนตัวภายในที่พัก
- ผู้อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อสามารถปฏิบัติตามสุขอนามัยได้
- ติดต่อและเดินทางไปยังโรงพยาบาลได้สะดวก
“โรงพยาบาล” ดูแลใกล้ชิด
- ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อที่จะแยกตัวในสถานที่พักของตนเอง
- ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) ในระบบของโรงพยาบาล
- ควรถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest X-Ray) หากพบความผิดปกติ แนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
- แนะนำการปฏิบัติตัว รวมทั้งจัดเตรียม ปรอทวัดไข้ และ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) ให้กับผู้ติดเชื้อ
- ติดตาม ประเมินอาการผู้ติดเชื้อระหว่างการแยกตัวที่บ้าน ผ่านระบบสื่อสารต่างๆ อาทิ การโทรศัพท์ติดตามอาการ, สอบถามอาการไข้, ค่า Oxygen Saturation วันละ 2 ครั้ง (เช้า – เย็น) เป็นระยะเวลา 14 วัน
- จัดช่องทางติดต่อในกรณีผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มขึ้น หรือภาวะฉุกเฉิน อาทิ มีไข้ลอย หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- จัดระบบรับ – ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ในกรณีผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องย้ายเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล
- ให้ความมั่นใจในมาตรฐานการดูแลรักษาของทีมแพทย์และพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อ
ระยะเวลา “แยกตัวที่บ้าน”
ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและแยกตัวที่บ้าน ควรแยกตัวจากผู้อื่นไม่น้อยกว่า 14 วัน ทั้งนี้หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แนะนำให้แยกตัวต่อเนื่องจนครบ 1 เดือน
ข้อควรระวังสำหรับการ “แยกตัวที่บ้าน”
- มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะแพร่เชื้อให้ผู้ที่อยู่ร่วม
- ต้องระมัดระวังเรื่องการกำจัดขยะติดเชื้อของผู้ติดเชื้อ
- อาจมีปัญหาความไม่เข้าใจของคนที่อยู่อาศัยในที่พักเดียวกัน เช่น หอพัก คอนโดมีเนียม เกี่ยวกับการแยกตัวที่บ้าน
- ต้องระวังเรื่องการเกิดภาวะปอดอักเสบ หรือภาวะพร่องออกซิเจนโดยไม่แสดงอาการ โดยไม่รู้ตัว
เป็นแค่ “แนวคิด” ยังไม่ใช้จริง
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เหมาะสมสำหรับการแยกตัวที่บ้าน (home isolation) เป็นการออกคำแนะนำเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์กรณีที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นจะต้องใช้มาตรการดังกล่าว โดยผู้ที่ติดเชื้อทุกรายจะต้องเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ที่ทางภาครัฐกำหนด
แนวคิดเรื่องการแยกตัวที่บ้านเป็นสิ่งที่ ข่าวมีค่า เห็นว่าสามารถปฏิบัติจริงได้ เพราะในด้านหนึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดเชื้อให้สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ รวมทั้งช่วยลดจำนวนคนที่ต้องไปกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม แต่ในขณะเดียวกัน หากจะใช้แนวทางนี้ก็ต้องมีความเข้มงวดจริงจัง เพราะมีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้ออาจไม่ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอาจเกิดปัญหาความไม่เข้าใจและกลัวการแพร่ระบาดจากผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจบานปลายเป็นการต่อต้านได้
ที่มา :
- มติชน : www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_2678825
- The Standard : https://thestandard.co/home-isolation-pros-and-cons/?fbclid=IwAR13V21Ti33v80Uen3oIZtBHpK5gFCkzt0IGVyQTivLe9fcBeJapx6O8nd4
- ข่าวสด : www.khaosod.co.th/covid-19/news_6340055
- Facebook : สกสว. : www.facebook.com/ThailandScienceResearchandInnovation/posts/3394793740539599/?_rdc=2&_rdr