นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่.. พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและภาคเอกชนร่วมบริจาคด้านสาธารณสุข โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ศิริราชมูลนิธิ หรือ มูลนิธิจุฬาภรณ์ ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมิน หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
3. บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิดังกล่าว
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า แม้มาตรการทางภาษีนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 300 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคด้านสาธารณสุขให้แก่ศิริราชมูลนิธิหรือมูลนิธิจุฬาภรณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย