หลังจากก่อนหน้านี้ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์ “ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์” “End inequalities. End AIDS. End pandemics.” เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2564 อ่านเพิ่มเติมที่ https://mekhanews.com/2021/11/26/stop-inequality-end-aids-to-help-people-with-hiv-have-a-quality-of-life-equal-to-that-of-ordinary-people/
ล่าสุด นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรคและนายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดโครงการเครือข่ายการขับเคลื่อนยุติปัญหาเอดส์ระดับจังหวัด “Empowering & Collaborating for Ending AIDS” ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ที่โรงแรมเดอะพาโก้ ดีไซน์ จังหวัดภูเก็ต
เพื่อเป็นเวทีในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านเอดส์ของจังหวัดภูเก็ต โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน มุ่งสู่การเป็นจังหวัดยุติเอดส์ โดยนายพิเชษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุติปัญหาเอดส์ระดับจังหวัด ได้รับการสนับสนุนจากกรมควบคุมโรค สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข
รวมทั้งความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อมุ่งสู่การเป็น “จังหวัดยุติเอดส์” โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ
1.ไม่ติด
2.ไม่ตาย
3.ไม่ตีตรา
กลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนยุติปัญหาเอดส์จังหวัดภูเก็ต ใช้กระบวนการ RRTTR ได้แก่
1.Reach (เข้าถึง)
2.Recruit (นำกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่บริการสุขภาพ)
3.Test (ตรวจหาการติดเชื้อ)
4.Treat (รักษาด้วยยาต้านไวรัส)
5.Retain (ทำให้คงอยู่ในระบบ)
ซึ่งต้องสร้างความรอบรู้ที่ถูกต้อง ให้แก่หน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ และประชาชน ด้านเรื่องเอชไอวี/เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การลดพฤติกรรมเสี่ยง การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ รวมถึงการเข้าถึงบริการ และเครือข่ายสุขภาพ นอกจากนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมีการพัฒนาระบบบริการ ดูแล รักษาอย่างมีคุณภาพ
ด้านนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคเล็งเห็นความสำคัญในการเร่งรัดการดำเนินงานยุติเอดส์ โดยสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนเครือข่ายทำงานในระดับจังหวัด เพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบ มีวัตถุประสงค์ให้มีการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างเข้มข้น
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “จังหวัดยุติเอดส์” โดยใช้กระบวนการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลในรูปแบบเครือข่ายระดับจังหวัด ยกระดับคุณภาพการบริการและพัฒนาระบบส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาครัฐ เอกชน ให้ครอบคลุมทุกสิทธิประโยชน์ นอกจากนี้ ยังเร่งหาแนวทางการดูแลให้กับคนที่ไร้สิทธิ์ เพื่อให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย
พร้อมทั้งปรับปรุง ลดช่องว่างในแต่ละสิทธิประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และจัดบริการที่มีคุณภาพ โดยเน้นให้เริ่มยาต้านไวรัสทันทีที่รู้ว่าติดเชื้อ เพื่อลดการป่วยด้วยภาวะแทรกซ้อนและลดการเสียชีวิต ซึ่งถ้ากดปริมาณไวรัสในเลือดได้ จะเป็นการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย
นายแพทย์ปรีชา กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดอย่างเต็มที่ โดยมีนโยบายที่สำคัญ ได้แก่
1.การเร่งการดำเนินงานจัดบริการเชิงรุกด้านการป้องกัน ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกคู่นอน
2.ขยายการจัดบริการยาเพร็พฟรี เพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ ในประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
3.ส่งเสริมการตรวจหา การติดเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจฟรีปีละ 2 ครั้ง
4.ส่งเสริมให้มีการใช้ชุดตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรอง
5.พัฒนาศักยภาพเครือข่ายและคุณภาพระบบบริการของสถานบริการสุขภาพ และหน่วยบริการภาคประชาสังคม
6.เสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกในการอยู่ร่วมกันกับผู้มีเชื้อเอชไอวีได้อย่างปกติ เพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ
7.ขับเคลื่อนพัฒนาระบบ กลไกการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิ์ อันจะเป็นกลไกสำคัญที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เพศภาวะ ในทุกกลุ่มประชากร
ขณะนายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของประเทศไทย โดยเร่งรัดการเข้าถึงบริการและพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาด้านเอชไอวี จนมีผลลัพธ์การดำเนินงานในช่วง ปี 2561-2563 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย
1.ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับรู้สถานะการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 100 เป็นร้อยละ 117 ผู้ติดเชื้อที่ทราบสถานะการติดเชื้อ
2.เอชไอวี เข้าถึงบริการได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66 เป็นร้อยละ 82 และผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัส
3.เอชไอวี สามารถกดปริมาณไวรัสในกระแสเลือดได้สำเร็จ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 83 เป็นร้อยละ 85
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงโอกาสการพัฒนาด้านการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร. 02-590-3211 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422