โลกของเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ค่ะ มีค่า นิวส์ พบบทความของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า ประเทศพัฒนาแล้วแทบทุกชาติมีสัดส่วนประชากรของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะประเทศไทยเอง กำลังอยู่ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทำให้โครงสร้างประชากรมีวัยพึ่งพิงมากกว่าวัยทำงาน นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สุขภาพ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคม
สวทช.ให้ความสำคัญต่อการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันยังเป็นการเตรียมพร้อม รองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ มีค่า นิวส์ จึงขอพาวัยเก๋า มาดูนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ที่ทาง สวทช. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พัฒนาขึ้น เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ จะมีนวัตกรรมอะไรที่น่าสนใจบ้าง และขั้นตอน จุดเด่นจะเป็นอย่างไร ติดตามพร้อมกันได้ที่นี่ค่ะ
1. รถเข็นไฟฟ้า M-Wheel ราคาถูก
ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ต้องการใช้รถเข็นเพิ่มมากขึ้น แต่รถเข็นที่ใช้งานส่วนใหญ่ มักเป็นรถเข็นแบบทั่วไป ต้องอาศัยกำลังแรงคนในการใช้มือผลักดัน แต่ในกรณีของผู้สูงอายุ ที่ไม่มีกำลังแขน ก็ต้องพึ่งพาคนใกล้ชิด ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และไม่สะดวกในการเดินทาง แต่ขณะที่รถเข็นไฟฟ้า แม้จะใช้งานง่าย แต่ยังมีราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่ราคา 20,000-100,000 บาท ทำให้มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้
ดร.ดนุ พรหมมินทร์ ทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จึงได้วิจัยพัฒนารถเข็นไฟฟ้า M-Wheel สะดวก ปลอดภัย ราคาไม่แพง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้สูงอายุ ที่ยังใช้งานร่างกายท่อนบนได้ดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น โดยอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
– ชุดขับเคลื่อน
– ชุดควบคุมการเคลื่อนที่
– ชุดแหล่งพลังงาน
เน้นใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด สำหรับระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ หากชาร์จไฟฟ้า 8 ชั่วโมง จะใช้งานได้ต่อเนื่องนาน 4 ชั่วโมง หรือ ระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งในกรณีที่แบตเตอรี่หมด สามารถสลับเปลี่ยนการใช้งานจากระบบไฟฟ้ามาเป็นระบบปกติเหมือนเดิมได้ด้วยค่ะ
ทั้งนี้ M-Wheel ผ่านการประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า ด้วยการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้า การป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์ โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) เรียบร้อยแล้วค่ะ รอเพียงการเปิดจำหน่ายเท่านั้น
2. Power Lift Bed เตียงนอนสุดล้ำ ลุกนั่งปลอดภัย
ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมไปตามวัย ทำให้หลาย ๆ ครั้ง การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ มีอุปสรรคทั้งในด้านการลุก การนั่ง การยืน และเป็นสาเหตุของการพลัดตกหกล้มได้ค่ะ ทางดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค จึงพัฒนา “Power Lift Bed” ขึ้น มีข้อดี ดังนี้
2.1 ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยพักฟื้นหลังการผ่าตัด สามารถลุก นั่ง ยืน ได้สะดวกสบาย มีความปลอดภัยสูง
2.2 ใช้งานและควบคุมได้ง่ายผ่านรีโมตคอนโทรล มีตัวหนังสือและสัญลักษณ์อธิบายที่ชัดเจน
2.3 เตียงสามารถปรับหมุนไปด้านซ้าย-ขวาได้ถึง 90 องศา
ข้อดีข้างต้น จะทำให้ผู้สูงอายุที่นอนอยู่ สามารถกดรีโมตปรับเตียงมาอยู่ในท่านั่ง และกดคำสั่งให้เตียงหมุนมาด้านข้าง เพื่อนั่งรับประทานอาหาร หรือดูโทรทัศน์ได้ทันที ช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองมากขึ้น สร้างความมั่นใจในการลุกขึ้นนั่งหรือยืน ไม่รู้สึกเป็นภาระต่อครอบครัวค่ะ
และล่าสุด เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมกับบริษัท SB Design Square ปรับรูปลักษณ์เทคโนโลยีให้มีความสวยงาม ทันสมัย มีฟังก์ชันใช้สอยที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตอบโจทย์ผู้บริโภค สร้างความรู้สึกที่แตกต่างจากเตียงผู้ป่วยแบบทั่วไป ปัจจุบันมีวางจำหน่ายแล้วที่ SB Design Square หรือ จะสั่งสินค้าออนไลน์ได้ที่ www.sbdesignsquare.com นับเป็นเฟอร์นิเจอร์ทางเลือกใหม่ที่สร้างความอุ่นใจในการใช้ชีวิตภายในบ้านให้กับผู้สูงอายุอย่างมากเลยทีเดียวนะคะ
3. AKIKO ผ้ากระตุ้นสมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อม เป็นปัญหาที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยจะมีอาการลืมเลือนสิ่งต่าง ๆ หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ซึ่งผู้ที่ดูแลนอกจากจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างมากแล้ว การพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยคงความสามารถ ด้วยการหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ เช่น การทายภาพสมาชิกใครอบครัว การเล่นเกม จะช่วยพัฒนาสมองและฟื้นฟูความทรงจำได้มากขึ้น
ดร.สิทธา สุขกสิ ทีมวิจัยออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค ได้พัฒนา “AKIKO ผ้ากระตุ้นสมอง” ที่มีการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของผู้สูงอายุในประเทศไทย มีลักษณะ ดังนี้
3.1 เป็นผ้าห่มที่ทำจากผ้าไทย มีความสวยงาม เนื้อผ้าอ่อนนุ่ม เวลาผู้สูงอายุสัมผัสเนื้อผ้าจะรู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ หรือ บางครั้งเวลาที่ผู้สูงอายุรู้สึกหงุดหงิด เมื่อจับหรือสัมผัสผ้าจะช่วยให้รู้สึกว่าได้คลายความหงุดหงิด ลดความเครียด และความกระวนกระวายใจได้
3.2 ออกแบบให้มีช่องใส่รูปภาพ หรือ กลิ่นหอมต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความคุ้นเคยของผู้สูงอายุ ซึ่งนำมาทำเป็นเกมช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและความทรงจำที่ดีให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ ขณะนี้มีการนำไปใช้จริงในสถานดูแลผู้สูงอายุ และมีบริษัทเอกชนเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเตรียมผลิตขายเชิงพาณิชย์แล้วค่ะ
4. MONICA เกมฝึกสมอง
สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อม เมื่อได้เล่นเกมนี้ จะช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น โดยเกมจะช่วยกระตุ้นสมองส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้งาน ทั้งในเรื่องความจำ การตัดสินใจ การมองเห็นและตอบสนองต่าง ๆ รวมถึงการใช้ภาษา โดยตัวเกม MONICA จะประกอบด้วย
4.1 ส่วนของโปรแกรมและปุ่มกดที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
4.2 การทำงานของเกมจะมีให้เลือกความยากง่าย เน้นการใช้ภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ โดยมีตัวอย่างเกม เช่น
– เกมเปรียบเทียบภาพปัจจุบันกับภาพก่อนหน้าว่าเหมือนหรือแตกต่าง หากเหมือนกันให้กดเครื่องหมายถูก หากต่างกันให้กดเครื่องหมายผิด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุเล่นเกมผ่านจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความรู้สึกมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นนั่นเองค่ะ
5. ผงเพิ่มความหนืด ช่วยให้อาหารเคี้ยวกลืนง่าย ปลอดภัย ไม่สำลัก
การสำลักน้ำและอาหาร รวมถึงภาวะการกลืนยาก เป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ เกิดจากอวัยวะในช่องปากเสื่อมลงและไม่สามารถดื่มน้ำหรือบริโภคของเหลวได้เหมือนคนปกติ ซึ่งนอกจากอันตรายแล้วยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การขาดน้ำ ขาดอาหาร ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค ได้ร่วมงานกับบริษัทเอกชน พัฒนา “ผงเพิ่มความหนืด” ที่ใช้เติมในน้ำและเครื่องดื่มให้มีความหนืดเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ เพื่อให้เกิดการไหลเข้าสู่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น ไม่ติดอยู่บริเวณคอหอยหรือหลุดเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการสำลักได้
ในเรื่องการบดเคี้ยวอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ทีมวิจัยยังใช้องค์ความรู้ในการปรับโครงสร้างของเนื้อสัตว์ให้เกิดการแตกหักง่ายขึ้น เมื่อผู้สูงอายุรับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยให้สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ง่ายจากการใช้เหงือกหรือการใช้ลิ้นดุนเพื่อให้เนื้อสัมผัสของเนื้อสัตว์แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเกิดการย่อยได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D food printing) เพื่อตอบรับความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะบุคคลที่คาดว่าจะมีปริมาณมากขึ้นในอนาคต
6. ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เนื้อสัมผัสนุ่ม บดเคี้ยว กลืนง่าย
ดร.นิสภา ศีตะปันย์ ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค พัฒนางานวิจัย “ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ปรับเนื้อสัมผัสให้บดเคี้ยวและกลืนง่าย” ผลงานวิจัยของ ใช้เทคโนโลยีกระบวนการปรับโครงสร้างร่วมกับการใช้ตัวปรับเนื้อสัมผัส เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ “เนื้อสัตว์ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม” บดเคี้ยวง่ายด้วยฟันหรือเหงือก กลืนง่าย มีปริมาณไขมันสัตว์น้อย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่สำคัญยังคงรูปร่างได้
มีลักษณะปรากฏคล้ายอาหารที่เตรียมจากเนื้อสัตว์ทั่วไป สามารถหั่นหรือตัดเป็นชิ้นได้ จึงนำไปเตรียมเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ คั่วกลิ้ง ลาบหมู มัสมั่นหมู หมูกระเทียม ช่วยให้ความรู้สึกในการบริโภคคงเดิม ส่วนที่พิเศษสุดคืออาหารปราบเซียนอย่างสเต๊ก ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยโพลิเมอร์ เอ็มเทค สามารถพัฒนาตัวปรับเนื้อสัมผัสอาหารสำหรับประเภทเนื้อสัตว์สู่ผลิตภัณฑ์ “สเต๊กเนื้อนุ่ม” พร้อมอุ่นร้อนจากเนื้อหมู หรือ เนื้อวัวบดหยาบ ที่มีปริมาณเนื้อสัตว์มากกว่า 70% โดยน้ำหนักและมีไขมันน้อยกว่า 5% ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อชิ้นแต่นุ่มและบดเคี้ยวง่าย ช่วยลดอุปสรรคในการบริโภคของผู้สูงอายุค่ะ
7. Ve-Chick ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากพืช
สวทช. ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร “โปรตีนทางเลือก” ทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด อาทิเช่น “Ve-Chick ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากพืช” ผลงานวิจัยของ ดร.กมลวรรณ อิศราคาร นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค ที่ได้นำความรู้เรื่องการออกแบบโครงสร้างอาหารมาผสานเข้ากับความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของโปรตีนจากถั่วเหลือง เพื่อจัดเรียงโครงสร้างของอาหารให้มีลักษณะเป็นเส้นใยเหมือนกับเนื้อไก่
ควบคู่ไปกับการปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติให้เหมือนอาหารต้นแบบ ดังนั้น เมื่อผู้บริโภครับประทาน Ve-Chick จะได้รับความรู้สึกเหมือนรับประทานเนื้อไก่จริง และยังได้รับสารอาหารในปริมาณที่แทบไม่แตกต่างกัน โดยเนื้อไก่ปกติ 100 กรัม จะมีโปรตีนประมาณร้อยละ 20 ของน้ำหนัก ขณะที่ Ve-Chick มีโปรตีนประมาณร้อยละ 16 ของน้ำหนัก ที่สำคัญไม่มีคอเลสเตอรอล และปลอดภัยจากฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตที่อาจตกค้างมาในเนื้อไก่
8. M-Pro Jelly Drink เครื่องดื่มโปรตีนสูงจากถั่วเขียว
ดร.ศิริกาญจน์ วิเศษสุวรรณภูมิ นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พัฒนา “M-Pro Jelly Drink เครื่องดื่มโปรตีนสูงจากถั่วเขียว” โดยนำโปรตีนถั่วเขียวมาผ่านกระบวนการผลิตเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดโครงสร้างโปรตีนตามต้องการ ร่วมกับการใช้ไฮโดรคอลลอยด์ในอัตราส่วนที่เหมาะสม
เพื่อช่วยในการพยุงโครงสร้าง และช่วยในการกระจายตัวของโปรตีนให้คงสภาพได้ดี ภายหลังการให้ความร้อนระดับพาสเจอไรซ์ ทำให้ได้เครื่องดื่มโปรตีนสูงชนิดเจลจากโปรตีนพืชที่มีลักษณะปรากฏเป็นเนื้อเดียวกัน และมีเนื้อสัมผัสที่เทียบเคียงได้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดเจลทางการค้าที่ไม่มีโปรตีนหรือมีโปรตีนในปริมาณที่ต่ำกว่า
โดยผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษานาน 2 สัปดาห์ในตู้เย็น และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่เย็น ทั้งนี้ เครื่องดื่ม M-Pro Jelly Drink มีปริมาณโปรตีนสูงกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) หรือร้อยละ 6 โดยน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ และมีการเสริมแคลเซียมกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI)
8 นวัตกรรมทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างผลงานการวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตพึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระของชาติ ที่มุ่งส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ มีค่า นิวส์ คิดว่าดีมาก ๆ เลยนะคะ เพราะจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้สูงอายุและเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ