ภายในสิ้นปี 2564 กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันในชื่อ “สถานีรถไฟหัวลำโพง” โดยมีนโยบายให้รถไฟทุกขบวน ปรับสถานีปลายทางไปที่สถานีกลางบางซื่อ พร้อมพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางแหล่งชอปปิ้ง โรงแรมที่ทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองในอนาคต
แต่ถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่จะไม่หายไป คือ เรื่องราวประวัติศาสตร์และความผูกพันของคนไทยที่มีต่อสถานีรถไฟแห่งนี้ มีค่า นิวส์ จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนรอย 105 ปี “ปิดสถานีหัวลำโพง” ก่อนพลิกโฉมสู่ “โครงการมิกซ์ยูส” สร้างรายได้ให้ รฟท. ว่าสถานีรถไฟแห่งนี้ มีความสำคัญต่อคนไทยมากน้อยเพียงใด การพัฒนาพื้นที่มีแนวทางขั้นตอนอย่างไร
สถานีรถไฟหัวลำโพง เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ในพื้นที่กว่า 120 ไร่ ตั้งอยู่ในแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459 รูปแบบการก่อสร้าง เป็นโดมสไตล์อิตาเลียน ผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนซองส์ วัสดุในการก่อสร้าง เป็นวัสดุสำเร็จรูปนำเข้าจากเยอรมนี ลวดลายที่ประดับไว้ล้วนแต่เป็นศิลปะที่วิจิตรสวยงามมาก
นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้า ยังมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน และยังมีอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ ที่ข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์ก่อสร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่รัชกาลที่ 5 ซึ่งสถานีรถไฟหัวลำโพง ยังกินพื้นที่บริเวณรอบด้านอีกพอสมควร มีชุมชนดั้งเดิมอยู่อาศัย มีวัดหัวลำโพง ที่สันนิษฐานกันว่าสร้างมาตั้งแต่ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
สถานีรถไฟหัวลำโพง ได้รับการปรับปรุงครั้งแรก เมื่อปี 2503 เพื่อรองรับการขยายตัว ทั้งด้านการโดยสาร การขนส่งสินค้าที่มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี รวมถึงการจราจรที่เริ่มติดขัด จากนั้นในปี 2541 สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ได้รับการปรับปรุงอีกครั้ง เพื่อตอบรับปีอะเมซิ่งไทยแลนด์ และรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ถ้านับอายุตอนนี้ สถานีรถไฟหัวลำโพง มีอายุมากกว่า 105 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่เป็นสถานีรถไฟกลางของคนไทย ใช้เดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะท่องเที่ยว เดินทางกลับบ้าน รวมถึงใช้เดินทางไปทำงานและเรียนหนังสือ แต่วันนี้ระบบขนส่งทางรางของไทย กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับระบบการเดินทางที่เปลี่ยนไป
เนื่องจากมีโครงการรถไฟฟ้าเกิดใหม่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต-บางซื่อ และอนาคต ที่จะมีส่วนต่อขยายมาถึงหัวลำโพง) ทำให้อีกไม่นาน เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเดินทางรูปแบบใหม่
และจากเดิมที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเคยเป็นศูนย์กลางในการเดินทาง แต่หลังจากวันที่ 23 ธ.ค. 64 สถานีกลางบางซื่อ จะมารับช่วงต่อนี้แทน ส่งผลให้รถไฟขบวนชานเมือง และ รถไฟทางไกล 155 ขบวน ต้องปรับลดการเดินทางเข้าสถานีหัวลำโพง ดังนี้
1. ขบวนรถไฟสายเหนือ, สายอีสาน 74 ขบวน (รถไฟสายเหนือต้นทางเชียงใหม่, สายอีสานต้นทางหนองคาย, อุบลราชธานี) จะวิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ 42 ขบวนต่อวัน
2.ขบวนรถไฟชานเมืองสายเหนือ, สายอีสาน 14 ขบวนต่อวัน ให้ผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้สถานีรังสิต, สถานีดอนเมืองเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดงเพื่อเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ
3.ขบวนรถไฟชานเมืองสายเหนือ 2 ขบวนต่อวัน วิ่งบนโครงสร้างสายสีแดงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ รถไฟชานเมืองสายเหนือ, สายอีสาน 6 ขบวนต่อวัน วิ่งบนโครงสร้างสายสีแดงรังสิต-วัดเสมียนนารี ใช้ทางรถไฟเดิมวิ่งเข้าสถานีบางซื่อเดิมและเข้าสู่สถานีหัวลำโพง
4.ขบวนรถไฟสายใต้ มีสถานีตลิ่งชันเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร 62 ขบวน (ขบวนรถเร็ว, รถด่วน, รถด่วนพิเศษ) 24 ขบวนต่อวัน ใช้เส้นทางเดิมวิ่งเข้าสถานีบางซื่อเดิม รถไฟชานเมืองจากสุพรรณบุรีและนครปฐม 2 ขบวนต่อวัน วิ่งเข้าสถานีหัวลำโพง
5.ขบวนรถไฟชานเมือง เข้าสถานีธนบุรี ใช้สถานีตลิ่งชันของสายสีแดงเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร 2 ขบวนต่อวัน และมีขบวนรถวิ่ง Loop เส้นทางสถานีธนบุรี-ศาลายา-มหิดล-นครปฐม 24 ขบวนต่อวัน
6.ขบวนรถไฟสายตะวันออก ยกเลิก 7 ขบวนที่เดินรถจากสถานีบางซื่อเข้าพื้นที่ชั้นใน ปรับตารางเดินรถ 19 ขบวน รถไฟธรรมดาชานเมือง 14 ขบวนต่อวันเข้าสถานีหัวลำโพง รถไฟธรรมดาชานเมือง 5 ขบวนต่อวัน ปรับวิ่งถึงสถานีมักกะสัน เป็นจุดเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์
แน่นอนว่า การปรับลดเส้นทางรถไฟวิ่งเข้าไปที่สถานีรถไฟหัวลำโพง อาจก่อให้เกิดความลำบากแก่ผู้ที่ต้องใช้รถไฟหัวลำโพง รฟท.ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ จะมีการช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อน โดยจะมีรถ รับ-ส่ง จากสถานีกลางบางซื่อ ไปสู่ สถานีรถไฟหัวลำโพง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ มีค่า นิวส์ คิดว่าหลายคน น่าจะอยากรู้ว่า สถานีหัวลำโพง จะพัฒนาไปในแนวทางไหน มีขั้นตอนอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น มีค่า นิวส์ จึงสรุปมาให้เข้าใจกันง่าย ๆ ดังนี้
แผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีหัวลำโพง รฟท. ได้จัดตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อบริหารที่ดินของ รฟท. ทุกแปลง โดยการประเมินรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริเวณหัวลำโพงในอนาคต ระยะเวลา 30 ปี พบว่า จะมีรายได้เข้ามารวม 800,000 ล้านบาท โดยปีแรกจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท จะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่องที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท ถึง 160,000 ล้านบาท
แนวทางการพัฒนาพื้นที่
1.สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) : บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง รวมถึงจัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย พร้อมทั้งมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิม สอดคล้องกับความสมัยใหม่ และรูปแบบการดำเนินชีวิต
2.พื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ – สถานีหัวลำโพง อยู่ระหว่างการทบทวนแบบโครงการ Missing Link โดยเฉพาะบริเวณสถานีราชวิถี (บริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดี) เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาล
นอกจากนี้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ด้วย คือ
1.โครงการสถานีธนบุรี แบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ศูนย์วิจัยเพื่อนวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูง
- พื้นที่เชิงพาณิชย์
- พื้นที่อยู่อาศัย
2.โครงการพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางพระรามเก้า
อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะของสัญญา และทำสรุปพื้นที่จัดสรรได้ เพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 การพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เห็นควรให้ รฟท.เร่งพิจารณาแนวทางการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงโดยเร็ว เพื่อให้มีความชัดเจนในการเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง
2.2 สำหรับการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อาจจะพิจารณาการออกแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการประกวดแบบการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง โดยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Land Developer) เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้เกิดมีแนวความคิดที่หลากหลายมากขึ้น
2.3 แนวทางการลงทุนของโครงการ ทาง รฟท. และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ควรพิจารณาว่า จะมีแนวทางการลงทุนเช่นใด หากพิจารณาแล้วว่า การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อให้เกิดผลประโยชน์ ต่อ รฟท. มากที่สุด ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคู่ขนานกันไป เพื่อไม่ให้การดำเนินการโครงการล่าช้า
โฉมใหม่หัวลำโพง แบ่งเป็น 5 โซน
โซน A 16 ไร่ เป็นอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่สาธารณะ
โซน B 13 ไร่ มีแผนปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์
โซน C 22 ไร่ พื้นที่โรงซ่อมรถราง กำหนดเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม เน้นพื้นที่สีเขียว มีต้นแบบจากเวนิส อิตาลี
โซน D 49 ไร่ พื้นที่ชานชาลา, เส้นทางทางรถไฟ, ย่านสับเปลี่ยนการเดินรถ มีแผนพัฒนาเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า โดยยึดต้นแบบ โตเกียว มิดทาวน์
โซน E 20 ไร่ อาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุเดิม มีแผนพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม โดยยึดต้นแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
สำหรับ Action Plan แนวทางการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย
1.ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. 65 จะมีการวางแบบแนวคิดการพัฒนาเบื้องต้น
2.เดือน ธ.ค. 64-มิ.ย. 65 จัดทำแผนแม่บท (ระยะสั้น-ระยะยาว) เสนอคมนาคม เพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาด้านแผนแม่บทและที่ปรึกษาออกแบบ
3.เดือน ก.ค.-ก.ย. 65 สรุปแผนปฏิบัติการและรายละเอียดการพัฒนาและมูลค่าการลงทุน โครงสร้างการลงทุน เสนอขออนุมัติ
4.เดือนต.ค. 65-ก.พ. 66 กระบวนการสรรหาเอกชน และเจรจาสัญญาภายใต้โครงสร้างการลงทุน จากนั้นเป็นช่วงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง
ถึงแม้ว่าแผนการพัฒนาสถานีหัวลำโพง จะเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังมีประชาชนออกมาคัดค้าน เพราะบางส่วนไม่มั่นใจว่าการพัฒนาดังกล่าว จะส่งผลดีต่อประชาชนจริงหรือไม่ และกังวลว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากค่าโดยสารที่แพงขึ้น หากต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อ จะเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น และความกังวลที่สำคัญอีกข้อ คือ กลัวว่าอาคารสถานีอันทรงคุณค่า จะถูกทุบทิ้งทำลายหรือไม่
เรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมายืนยันว่า จะไม่มีการทุบ หรือ รื้อทิ้งสิ่งปลูกสร้างอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพงแต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่ สถานีหัวลำโพง มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่จะพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
เบื้องต้น นายศักดิ์สยาม สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 14 ธ.ค. 64 นี้ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และยูทูป ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น. จะมีผู้แทนจากรฟท. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบริษัท เอสอาร์ที เเอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดทั้งหมด รวมทั้งได้เชิญผู้ที่จะเข้ามาร่วมแสดงความเห็น กำหนดไว้ ดังนี้
1.นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
2.นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสว.
3.มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค
4.ประชาชน
มีค่า นิวส์ ชวนทุกคนมาจับตาดูกันว่าการพลิกโฉม “สถานีรถไฟหัวลำโพง” ในครั้งนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป จะสมกับที่ถูกคาดหวังให้เป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์คนเมืองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์ได้ และยังคงอัตลักษณ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ รวมถึงสร้างรายได้ให้กับ รฟท. ตามที่มีคาดการณ์ไว้ได้หรือไม่
ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย https://www.railway.co.th/
มติชนออนไลน์ https://mgronline.com/