หลังจาก ศบค.กำหนดเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ จากเดิมวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ไปเป็นวันที่ 16 มกราคม 2565 อ่านเพิ่มเติมที่ https://mekhanews.com/2021/11/26/im-glad-prof-knock-has-not-yet-opened-entertainment-venues/
ต่อมากลุ่มคนบันเทิงกลางแจ้ง นำโดย นายสุวิทย์ กิตติธนานนท์ ประธานกลุ่มคนบันเทิงเข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผมและยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้กระทรวงแรงงานหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและขอให้ปลดล็อคแสดงดนตรีตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2564 โดยจะปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค.อย่างเคร่งครัด
จากนั้นนายสุชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงจัดการประชุมร่วมกับ น.ส.สุนทราลักษณ์ เพ็ชรกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ และผู้แทนกลุ่มคนกลางคืน อาทิ ตัวแทนนักดนตรี ผู้จัดงานคอนเสิร์ต สมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
ล่าสุด นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างอาชีพกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานสรุปผลการเจรจากับตัวแทนสมาคมเครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ คลับ บาร์ คาราโอเกะแล้ว
เบื้องต้น กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาวงเงิน และหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มนายจ้าง สถานประกอบการ ซึ่งส่วนมากอยู่ในส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี รัฐบาลจะให้นโยบายเยียวยารายละ 3,000 บาท ตามจำนวนลูกจ้างต่อเดือน
- กลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 อยู่ในธุรกิจ ผับ บาร์ ทั้งเด็กเสริฟ พ่อครัว เสมียนบัญชี จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- ส่วนที่ 1 รัฐบาลจะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50%
- ส่วนที่ 2 หากไม่เพียงพบในการใช้จ่ายจะนำส่วนของเงินกู้สภาพัฒน์ฯโดยประมาณการตัวเลขเบื้องต้นไว้ที่ 5,000 บาท ทั้งนี้ หากอยู่ในระบบประกันสังคมจะได้ 2 ส่วน โดยให้ประกันสังคมช่วย 50% อีกส่วนขอเงินกู้จากรัฐบาล
3. กลุ่มลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปินอิสระ อาจต้องขึ้นทะเบียนตามมาตรา 40 ของประกันสังคม ตรวจสอบตัวเลขในระบบเบื้องต้นมีจำนวนประมาณไม่เกิน 1.5 แสนราย โดยจะขอให้สมาคม/สมาพันธ์รับรองบุคคลเหล่านี้ จะได้รายละ 5,000 บาทเช่นกัน
รวมทั้งในส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่เข้าข่ายมาตรา 40 จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรม สำรวจจำนวนเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป