การมีสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ยิ่งในปัจจุบันมีโรคระบาดเกิดขึ้นมากมาย และยังรวมไปถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรค NCDs ที่ล้วนแล้วแต่เป็นภัยเงียบ ที่เราไม่ควรมองข้าม ดังนั้น ย่อมเป็นการดีกว่า ถ้าเราจะรู้ตัวก่อน และสามารถตั้งรับกับโรคภัยเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที ด้วยวิธีการ “ตรวจสุขภาพประจำปี”
“การตรวจสุขภาพประจำปี” คือ การตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรคต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันก่อนเจ็บป่วย อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การส่งเสริมสุขภาพของผู้ที่รับการตรวจ หรือ แม้กระทั่งสามารถให้การบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรก ทำให้โรคไม่ลุกลาม นำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตามแต่สถานพยาบาลกำหนด อ่านเพิ่มเติมที่ >> รวมโปรตรวจสุขภาพ 10 โรงพยาบาล ราคาไม่แรง เช็กร่างก่อนปีใหม่ ตามสไตล์คน Healthy https://mekhanews.com/2021/12/15/including-health-check-up-promotion-at-10-hospitals-affordable-price-check-the-body-before-the-new-year-in-the-style-of-a-healthy-person/
แต่สำหรับในส่วนของพนักงานประจำ หรือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน สามารถเลือกใช้สิทธิ “ตรวจสุขภาพประจำปี” กับสำนักงานประกันสังคมได้ฟรี! เช่นเดียวกับผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกันตนหลายคน อาจจะยังไม่ทราบว่า มีสิทธิตรงนี้อยู่ หรือ อาจจะยังไม่เข้าใจขั้นตอนการใช้สิทธิ
วันนี้ มีค่า นิวส์ ได้รับเกียรติจากแพทย์หญิงนิธยาพร ลิมปะพันธุ์ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน “การตรวจสุขภาพประจำปี” ฟรี! ผู้ประกันตนต้องทำอย่างไร และจะได้ตรวจสุขภาพด้านใดบ้าง โดยแพทย์หญิงนิธยาพร กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการตรวจสุขภาพฟรีกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้เราเห็นภาพของโครงการมากขึ้น
แพทย์หญิงนิธยาพร ระบุว่า จากเดิมการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มอายุ ถูกรวมอยู่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากนั้นในปี 2558 สำนักงานประสังคมเล็งเห็นความสำคัญ ต้องการผลักดันให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน จึงกำหนดเป็นโครงการตรวจสุขภาพประจำปีลงในพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา โดยให้สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเบิกค่าใช้จ่ายจากงบประมาณกองทุนประสังคม (กรณีเจ็บป่วย) ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วม 962 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564)
ส่วนการคัดเลือกสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ แพทย์หญิงนิธยาพร เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม จะเปิดรับทั้งสถานพยาบาลภาครัฐและสถานพยาบาลเอกชน จากนั้นจะลงนามทำสัญญาเข้าร่วมโครงการ โดยสถานพยาบาลที่เข้าร่วม จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ดังนี้
1.ต้องเป็นสถานพยาบาลที่ส่งเสริมและป้องกันโรคตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
2.ต้องอยู่ในพื้นที่ที่สะดวก สำหรับการเข้ารับบริการทั้งในสถานพยาบาล หรือนอกสถานพยาบาล
แพทย์หญิงนิธยาพร ยังเปิดเผยขั้นตอนการใช้สิทธิตรวจสุขภาพฟรี! โดยผู้ประกันตนสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ตามช่องทางต่อไปนี้
1.ตรวจสอบผ่านทาง https://www.sso.go.th/wpr/main/login
2.สอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง)
3.ประสานไปยังสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/พื้นที่ใกล้เคียง
4.ติดต่อ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม 02-956-2500 -2510
อ่านเพิ่มเติม >> ช่องทางติดต่อประกันสังคม https://mekhanews.com/2021/07/14/social-security-contact/
ขณะที่ขั้นตอนการใช้สิทธิ แพทย์หญิงนิธยาพร เปิดเผยรายละเอียดให้ทราบ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.กรณีการตรวจสุขภาพเชิงรุก ณ สถานประกอบการ
1.1 สถานประกอบการประสานสถานพยาบาลและสำนักงานประกันสังคมร่วมจัดทำแผนการตรวจสุขภาพ เชิงรุกในสถานประกอบการ
1.2 สถานประกอบการนัดหมาย วัน เวลา ให้สถานพยาบาลเข้าตรวจสุขภาพ
1.3 นำบัตรประจำตัวประชาชนยื่นให้เจ้าหน้าที่ และแจ้งว่า “ขอเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยใช้สิทธิประกันสังคม”
1.4 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิและแจ้งรายการที่สามารถใช้สิทธิได้
1.5 ผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจสุขภาพ
1.6 สถานพยาบาลแจ้งผลการตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตนพร้อมคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม
2. กรณีการตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาล
2.1 ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิในสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
2.2 นำบัตรประจำตัวประชาชน ยื่นให้เจ้าหน้าที่ และแจ้งว่า “ขอเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยใช้สิทธิประกันสังคม”
2.3 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิและแจ้งรายการที่สามารถใช้สิทธิได้
2.4 ผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจสุขภาพ
2.5 สถานพยาบาลแจ้งผลการตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม
สำหรับข้อสงสัย กรณีที่ถ้าเราใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ที่สถานพยาบาลหนึ่ง แต่ต้องการตรวจสุขภาพในสถานพยาบาลแห่งอื่นจะสามารถทำได้หรือไม่ แพทย์หญิงนิธยาพร ยืนยันว่า สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแนะนำให้โทรศัพท์สอบถามกับสถานพยาบาลแห่งนั้นโดยตรงก่อนเข้ารับบริการ ซึ่งหากไปใช้สิทธิแล้ว พบความผิดปกติทางด้านสุขภาพ ผู้ประกันตนจะต้องกลับไปใช้สิทธิการรักษาที่สถานพยาบาลที่มีสิทธิ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ มีค่า นิวส์ เชื่อว่าหลายคนน่าจะอยากรู้ว่า โปรแกรมตรวจสุขภาพในแต่ละรายการเป็นอย่างไร โดยแพทย์หญิงนิธยาพร ระบุว่า สำนักงานประกันสังคมได้นำแนวทางการตรวจสุขภาพจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาออกแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย
1.การตรวจร่างกายตามระบบ
2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
3.การตรวจอื่น ๆ
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพ จะกำหนดตามความเสี่ยงของช่วงอายุผู้ประกันตน โดยเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์กำหนดฯ ซึ่งแนวทางจะเหมือนกับการตรวจสุขภาพกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมบัญชีกลาง เริ่มที่อายุ 15-80 ปี มีจำนวน 14 รายการ ดังนี้
1.ตรวจร่างกายทั่วไป
1.1 การคัดกรองการได้ยิน Finger Rub Test อายุ 15 ขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี
1.2 การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข (อายุ 30-39 ปี ตรวจทุก 3 ปี, อายุ 40-54 ปี ตรวจทุกปี, อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเหมาะสม หรือ มีความเสี่ยง)
1.3 การตรวจตาโดยความดูแลของจักษุแพทย์ (อายุ 40-54 ปี ตรวจ 1 ครั้ง, อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี)
1.4 การตรวจสายตาด้วย Snellen Eye Chart อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี
2.ตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2.1 ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC (อายุ 18-54 ปี ตรวจ 1 ครั้ง, อายุ 55-70 ปี ตรวจ 1 ครั้ง/ปี)
2.2 ปัสสาวะ UA อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี
3.ตรวจสารเคมีในเลือด
3.1 น้ำตาลในเลือด FBS (อายุ 35-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี, อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี)
3.2 การทำงานของไต Cr อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี
3.3 ไขมันในเส้นเลือดชนิด Total Cholesterol & HDL อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี
4.การตรวจอื่น ๆ
4.1 เชื้อไวรัสตับอักเสบ HB sAg สำหรับผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 ตรวจ 1 ครั้ง
4.2 มะเร็งปากมดลูก Pap Smear (อายุ 30-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี, อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเสี่ยง)
4.3 มะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี VIA (อายุ 30-54 ปี ตรวจทุก 5 ปี, อายุ 55 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจ Pap smear)
4.4 เลือดในอุจจาระ FOBT อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง/ปี
4.5 เอกซเรย์ปอด Chest X-ray อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนต้องการตรวจสุขภาพในรายการที่นอกเหนือจาก 14 รายการข้างต้น ผู้ประกันตนจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง โดยจะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คืนจากกองทุนประกันสังคมได้
นอกจากนี้ แพทย์หญิงนิธยาพร ยังชี้แจงสิทธิของผู้ประกันตนมาตรา 40 ในประเด็นที่ไม่สามารถใช้สิทธิตรวจสุขภาพฟรีกับสำนักงานประกันสังคมได้เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สาเหตุเนื่องจากผู้ประกันตนมาตรา 40 มีสิทธิการรักษากรณีเจ็บป่วยอยู่กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะดูแลในส่วนอื่น ๆ ตาม 3 ทางเลือกที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้เลือกสมัครเอาไว้ คือ
ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 42 บาท/เดือน จะคุ้มครอง 3 กรณี (ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย)
ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 60 บาท/เดือน จะคุ้มครอง 4 กรณี (ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ)
ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 180 บาท/เดือน จะคุ้มครอง 5 กรณี (ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ สงเคราะห์บุตร)
รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้าย เชิญชวนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เข้ารับบริการตรวจสุขภาพฟรีตามสิทธิ “อยากให้ผู้ประกันตนดูแลสุขภาพ เนื่องจากต้องทำงานหนัก เปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลตัวเอง และบุคคลอื่น ทั้งยังเป็นกำลังหลักของประเทศ ดังนั้น การตรวจสุขภาพจะช่วยให้เราทราบโรคต่าง ๆ ล่วงหน้า เพื่อให้ผลการรักษาที่ดีกว่าทราบภายหลัง”
มีค่า นิวส์ เห็นด้วยอย่างมากเลยค่ะ และเชื่อว่า คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ อย่างไรขอร่วมเชิญชวนให้ผู้ประกันตนไปใช้สิทธิตรวจสุขภาพประจำปีกันอย่างน้อยปีละครั้งนะคะ