นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 มกราคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1.มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียด แผนงานและกิจกรรม และประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเสนอ ครม.
2.ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก
3.คณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 19-30 มิถุนายน 2565 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย
สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ดังนี้
1.จะช่วยส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำในการดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้
2.เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม และข้อริเริ่มใหม่ ๆ เช่น
– การจัดอบรมให้กับผู้จัดการแหล่งมรดกโลก
– การอบรมให้ความรู้ในการดำเนินงานในด้านการอนุรักษ์
นอกจากนี้ยังมีผลต่อด้านเศรษฐกิจ โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ จะเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ซึ่งจากข้อมูลสถิติในการจัดการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ครั้งที่ 40-43 มีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,300 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนจากการใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ เช่น การเดินทาง ที่พัก การท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายทั่วไป