ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ ลูกจ้าง ที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยผู้ประกันตนต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และ อายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในแต่ละเดือนนายจ้าง จะต้องหักเงินสมทบจากเงินเดือนเราไปทุกเดือน เพื่อส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ให้เราได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แต่ทุกคนเคยรู้กันหรือไม่คะว่า เรามีเงินเดือนเท่านี้ จะถูกนายจ้างหักเงินสมทบไปเท่าไหร่ ? เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ มีค่า นิวส์ จึงสรุปรายละเอียดมาฝากค่ะ
1.ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 10,000 บาท จะถูกหักเพื่อนำส่งประกันสังคม (10,000 x 5%) = 500 บาท
2.ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท จะถูกหักเพื่อนำส่งประกันสังคม (15,000 x 5%) = 750 บาท
3.กรณีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ให้รายงานค่าจ้างตามจริง สำนักงานประกันสังคมจะคำนวณเงินสมทบฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น
เงินเดือน 25,000 บาทจะถูกหักเพื่อนำส่งประกันสังคม (15,000 x 5%) = 750 บาท เป็นต้น
เพดานสูงสุดอยู่ที่ 750 บาท
ในส่วนของนายจ้างต้องอย่าลืมส่งเงินสมทบตรงตามค่าจ้างจริงทุกเดือนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างที่อยู่ในมาตรา 33 ซึ่งนายจ้างและลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เท่ากัน คือ ร้อยละ 5 ต่อเดือน โดยการคำนวณเงินสมทบ จะคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ดังนี้
- ต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท สูงสุดเดือนละ 15,000 บาท
- หากค่าจ้างไม่ถึง 1,650 บาท ให้คำนวณจากฐานค่าจ้าง 1,650 บาท
- และหากค่าจ้างเกินกว่า 15,000 บาท ให้คำนวณจากฐานค่าจ้าง 15,000 บาท
หมายเหตุ : ปกติแล้วการนำส่งประกันสังคมมาตรา 33 จะเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องนำส่งให้พนักงาน ซึ่งเราสามารถเช็กเงินสะสมประกันสังคมได้ว่า บริษัทได้ส่งให้เราครบถูกต้องไหม
ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ได้ส่งให้สำนักงานประกันสังคมตามที่แจ้ง แนะนำให้รีบติดต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่รับผิดชอบ