นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มกราคม 2565 อนุมัติโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งจะดำเนินการภายใต้รูปแบบคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เงินลงทุนเริ่มต้น 14,670.57 ล้านบาท ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร โดยเป็นการอนุมัติค่าจัดกรรมสิทธิที่ดินและค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง วงเงิน 5,792.24 ล้านบาท คาดว่า กทพ. จะประกาศเชิญชวนเอกชน ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน นี้ เริ่มก่อสร้างในปี 2566 และคาดว่าเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2570
สำหรับโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินทางระหว่างตัวเมืองฝั่งตะวันออกของภูเก็ตไปยังหาดป่าตองให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
2.ลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น เนื่องจาก สภาพเส้นทางที่ลาดชันและคดเคี้ยว
3.ใช้เป็นเส้นทางอพยพ กรณีเกิดภัยพิบัติ (เช่น กรณีเกิดสึนามิ)
มีลักษณะ/รูปแบบ คือ
1.เป็นทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลาง ของแนวเส้นทาง
2.ระยะทางรวม 3.98 กม. เป็นทางพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง
3.มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับ ถ.พระเมตตา ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ ถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้
4.มีทางขึ้น -ลง 2 แห่ง และมีด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณ ต.กะทู้ 1 ด่าน
รูปแบบการลงทุน
เป็นลักษณะการร่วมลงทุน ระหว่าง รัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่
- การออกแบบ
- รายละเอียดและการก่อสร้าง
- การดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) เอกชน จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่ม ดำเนินงานพร้อมทั้งให้เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี
สำหรับโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต คาดการณ์จะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 5 ปี (พ.ค. 2565 – ก.ค. 2570) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสัญจรกับประชาชนในพื้นที่ตลอดจนนักท่องเที่ยว และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศเป็นไปตามการสนับสนุนการพัฒนา จ.ภูเก็ต ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อีกด้วย