กรณีที่มีข่าวเผยแพร่ว่า พบชายโดนตะขาบกัด แล้วนำคางคกมารักษา โดยการถูบริเวณแผลนั้น มีค่า นิวส์ สอบถามนายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดผิวหนังติดเชื้ออย่างมาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว พิษของตะขาบจะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท เเละจะมีอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อยหลังโดนตะขาบกัด คือ
- อาการปวด บวม แดง
- มีเหงื่อออกเฉพาะที่
- อาจพบมีเลือดออกในบริเวณที่ถูกกัดได้
- มักเกิดอาการชา ซึ่งเป็นผลมาจากพิษของตะขาบ
ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลแผลที่ดี อาจลุกลามเกิดเป็นแผลลึกหรือมีการติดเชื้อตามมาได้ อย่างไรก็ดี ในบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก การถูกตะขาบกัดอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะกล้ามเนื้อสลาย หรือ ไตวาย
ด้านแพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาเบื้องต้นหลังถูกตะขาบกัด ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดก่อน หลังจากนั้นให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. ประคบด้วยน้ำแข็ง หรือแช่บริเวณที่ถูกกัดในน้ำอุ่นเพื่อลดอาการปวด
2. ใช้ยาแก้ปวดชนิดรับประทานหรือสเปรย์ลดอาการปวด
3. รับประทานยาแก้แพ้ กลุ่ม antihistamines
4. ผู้ที่ถูกตะขาบกัดควรได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก
5. รับประทานยาฆ่าเชื้อหากพบว่ามีการติดเชื้อที่ผิวหนังร่วมด้วย
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ความเห็นว่า การใช้วิธีนำคางคกหรือสิ่งอื่นใดมาถู หรือ พอกบริเวณที่ถูกกัดนั้น จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังได้มากขึ้น หากมีความผิดปกติ หรือ อาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นหลังถูกตะขาบกัด แนะนำให้รีบไปพบแพทย์แพทย์ทันที