ตามที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาเปิดเผยถึงการเตรียมยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ป หรือ การให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) และให้ใช้แนวทางรักษาแบบตามสิทธิของประชาชน คาดว่าจะเริ่มวันที่ 1 มีนาคม 2565 อ่านเพิ่มเติมที่ >> https://mekhanews.com/2022/02/11/1-mar-cure-for-covids-private-hospital-must-pay-by-yourself/
แต่ต่อมา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีปลดโรคโควิด-19 จากโรคฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ว่าอยู่ระหว่างการร่างประกาศ จึงยังไม่ได้กำหนดว่า จะเป็นวันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 เมษายน ถ้าได้ข้อสรุปแล้วจะสื่อสารให้ประชาชนทราบทันที อ่านเพิ่มเติมที่ >> https://mekhanews.com/2022/02/14/when-will-i-release-covids-from-usep-ucep/
ล่าสุด นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เสนอคณะกรรมการสถานพยาบาลใช้กลไก UCEP โควิด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ทำให้สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันดูแลผู้ป่วย แต่ปัจจุบัน สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยลง ประชาชนเข้าใจวิธีป้องกันควบคุมโรคมากขึ้น
ดังนั้น คณะอนุกรรมการการรักษาในพื้นที่ กทม. รวมถึงศูนย์ปฏิบัติฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีความเห็นตรงกันว่าควรปรับให้มีการรักษาโรคโควิด-19 ตามสิทธิการรักษา ซึ่งคนไทยทุกคนมีอยู่เดิม ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม
ทั้งนี้ ในวันที่ 31 มกราคม มีการประชุมกองทุนสุขภาพทั้ง 4 กองทุน คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เบื้องต้น ได้ข้อสรุป ดังนี้
1.สวัสดิการข้าราชการ เข้ารักษาโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่งทั่วประเทศ
2.บัตรทอง เข้ารักษาสถานพยาบาลเครือข่ายบัตรทองทุกแห่งตามนโยบายบัตรทองรักษาทุกที่
3.ประกันสังคม จะเสนอคณะกรรมการการแพทย์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ให้รักษาในเครือข่ายโรงพยาบาลประกันสังคมได้เช่นกัน
4.บัตรประกันสุขภาพต่างด้าว ให้รักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ขึ้นทะเบียน
5.ผู้ที่มีปัญหาไร้สิทธิและสถานะ เตรียมโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. และโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งไว้รองรับ
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสามารถเข้าระบบ HI ได้ตามปกติ ซึ่งทุกกองทุนสุขภาพจะทำระบบ HI รองรับ เช่น
1.บัตรทอง ติดต่อผ่านสายด่วน 1330
2.ประกันสังคม สายด่วน 1506
3.สิทธิสวัสดิการข้าราชการ โทร 02-270-6400
4.สิทธิประกันต่างด้าว โทร 02-590-1578
นพ.ธเรศ ยังยืนยันว่า การปรับโควิด-19 มาสู่การรักษาตามสิทธิ จะไม่กระทบในช่วงนี้ ที่มีการติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากเป็นการกระจายผู้ป่วยไปตามจุดต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ และหากผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ยังเข้ารักษาทุกที่ได้ตามแนวทางของสิทธิ UCEP โดยจะมีการเพิ่มเติมรายการที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น ชุด PPE ชุดป้องกันโรค เครื่องช่วยหายใจบางชนิด เพื่อให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้เข้ารักษาโรงพยาบาลใดก็ได้ โดยอาการที่เข้าข่ายวิกฤต เช่น ช็อก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อ่อนแรงแขนขาครึ่งตัว เลือดออกในสมอง เป็นต้น
ซึ่งเมื่อมีโรคโควิด-19 ได้นำสิทธิ UCEP เข้ามาใช้ควบคู่กับการควบคุมโรค ให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมทั้งขณะนี้ เรามีความรู้เกี่ยวกับโควิดมากขึ้น และเป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา 7 เท่า และการเสียชีวิตน้อยกว่า 10 เท่า ผู้ติดเชื้อกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล
จึงเน้นให้รับการดูแลในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) รวมถึงเตรียมปรับให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาตามสิทธิ ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นไปโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบโดยไม่มีอาการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ยังใช้สิทธิ UCEP ได้ตามปกติเหมือนโรคอื่น ๆ