นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้ออกมาตรการขยายระยะเวลาบังคับใช้อัตราภาษีตามปริมาณน้ำตาลออกไป 1 ปี ซึ่งปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและช่วยฟื้นฟูเยียวยาผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า กรมสรรพสามิตได้เริ่มจัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด และปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษี ทำให้เครื่องดื่มส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำตาล 10 กรัม ถึง 14 กรัม เสียภาษีตามปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ส่งผลให้เครื่องดื่มปรับราคาสูงขึ้นร้อยละ 10 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ยังไม่ดีขึ้นเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีมาตรการขยายเวลาบังคับใช้อัตราภาษีตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไป 1 ปี นอกจากจะไม่ทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากราคาเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูเยียวยาผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกด้วย
ทั้งนี้มีค่า นิวส์พาย้อนดูว่า ที่ผ่านมาอัตราภาษี ความหวาน รอบ 2 แบ่งอย่างไรบ้าง
- น้ำตาล 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี
- ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
- ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร
- ค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขึ้นไป เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564
และการจัดเก็บอัตราภาษีความหวานเป็นผลทำให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มน้ำอัดลม ประกาศแจ้งปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มน้ำอัดลม “โค้ก”และ “เป๊ปซี่” สูตรมีน้ำตาลแบบดั้งเดิม เฉลี่ยขวดละ 2-3 บาท
ดังนั้นตอนนี้ก็ทำให้ปีนี้เรายังสามารถซื้อน้ำดื่มที่มีความหวานในอัตราราคาที่เท่าเดิม แต่ถ้าหลังจากนี้จะมีการปรับภาษีขึ้นร้อยละ 10 ก็คงต้องดูว่า แต่ละเจ้าจะมีการปรับตัวอย่างไรกับเรื่องนี้