นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (Completely Buildup : CBU) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อลดอัตราอากรหรือ ยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับการนำเข้ารถยนต์ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) สำเร็จรูปทั้งคัน ในปี 2565-2566 มีค่า นิวส์ สรุปได้ดังนี้
1. ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
– การนำเข้าทั่วไป ลดอัตราอากร จากเดิมร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 40
– ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
– ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรอีก 40%
2. ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 – 7 ล้านบาท
– การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิมร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60
– ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
– ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรอีก 20%
3. ดำเนินการศึกษาและพิจารณามาตรการส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่างประกาศกระทรวงการคลัง อันมีสาระสำคัญ ดังนี้
3.1 การยกเว้นอากรชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่
– แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่
– ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS)
– ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว
2.2 การผลิต หรือ ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ให้มีการนับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV)
ทั้งนี้ การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรดังกล่าว ให้ใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ CBU ที่มีหนังสือรับรองการได้รับสิทธิชำระภาษี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กหรือรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลาง จากกรมสรรพสามิต แม้คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสีย รายได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย