“หนี้สาธารณะ” กลายเป็นอีกหนึ่งคำที่ล่าสุด การเสพข่าวการติดตามกระบวนการทำงานของภาครัฐได้กลับมาพูดถึงในแวดวงสังคมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะตัวเลขและความจำเป็นของการกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้ในการบริหาร และก่อนหน้า มีค่า นิวส์ เคยพาทุกๆ คนไปดูกันแล้วว่า กระบวนการทำงานของหนี้สาธารณะมีหน่วยงานไหนที่ต้องรับผิดชอบ และเมื่อได้เงินมาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในประเทศไทยจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้การทำงานตอบโจทย์และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
แต่แน่นอนว่าที่ผ่านมา มีค่า นิวส์ ก็ต้องยอมรับเองด้วยว่า เราก็ไม่ค่อยได้สนใจหรือใส่ใจนักว่า เงินกู้ดังกล่าว กับการบริหารจัดการหนี้ภายหลังจากที่กู้แล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินดังกล่าวไปบริหารจัดการอย่างไร วันนี้เราเลยลองไปเสิร์ชข้อมูลเพื่อดูว่า ก่อนหน้าที่จะมีการกู้เงินมาหรือการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้ประชาชน เราในฐานะคนไทยได้ใช้สวัสดิการหรือมีความเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ไปเจอข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นข้อมูลที่เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้อัพเดทไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ได้สรุปสถานะหนี้สาธารณะไว้ ดังต่อไปนี้
สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 8,472,186.98 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 53.32 ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 7,380,114.92 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 799,090.17 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 285,357.53 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,624.36 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- หนี้รัฐบาล จำนวน 7,380,114.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 52,818.72 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
- เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้น 26,000 ล้านบาท
- หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มขึ้น 30,605 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าจากการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้าสำหรับพันธบัตรรัฐบาล (LB256A) ที่จะครบกำหนดชำระวันที่ 17 กรกฎาคม 2564
- เงินกู้สกุลต่างประเทศ เพิ่มขึ้นสุทธิ 9,698.46 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการเบิกจ่าย
- เงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 9,260.98 ล้านบาท และการเบิกจ่ายเงินกู้ให้กู้ต่อสกุลเงินเยน สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 491.80 ล้านบาท ขณะที่มีการลดลงของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 45.85 ล้านบาท
- เงินกู้ในประเทศเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพิ่มขึ้นสุทธิ 5,462 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น (1) การเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในภูมิภาคและรถไฟความเร็วสูง จำนวน 4,381.70 ล้านบาท และ (2) การเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีเขียวสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน) จำนวน 1,080.30 ล้านบาท
- หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 18,946.74 ล้านบาท จากการไถ่ถอนพันธบัตรที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
- หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 799,090.17 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 2,627.76 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
- หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 1,686.82 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้ของ รฟท. จำนวน 2,285.53 ล้านบาท ขณะที่มีการชำระคืนหนี้เงินกู้สกุลเงินเยนของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 550.09 ล้านบาท
- หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 4,314.58 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนหนี้เงินกู้ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) จำนวน 3,353 ล้านบาท และการลดลงสุทธิของหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 1,430 ล้านบาท ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 379.60 ล้านบาท
- หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จินวน 285,357.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.28 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
- หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 7,624.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 37.48 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจาก
- หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 37.48 ลัานบาท จากเดือนก่อนหน้าจากการเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำนวน 86.09 ล้านบาท ขณะที่มีการชำระคืนหนี้เงินกู้ของสำนักงานธนานุเคราะห์ จำนวน 31.25 ล้านบาท และการลดลงสุทธิของหนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 9.37 ล้านบาท
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 8,472,186.98 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ ร้อยละ 98.21 และหนี้ต่างประเทศ ร้อยละ 1.79 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และเมื่อแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว ร้อยละ 85.15 และหนี้ระยะสั้น ร้อยละ 14.85 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด
ดังนั้นเมื่อเราค้นข้อมูลทำให้เรารับรู้ว่า หนี้สาธารณจะกระจายการทำงานออกไปเป็น หนี้รัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจ หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เป็นต้น ส่วนเรื่องความคุ้มค่าหรือสวัสดิการต่างๆที่เราควรได้รับจากการบริหารจัดการเงินในครั้งนี้ก็คงเป็นความรู้สึกของแต่ละคนที่มองเข้ามา ส่วนมีค่า นิวส์ก็คงทำหน้าที่ได้แค่เพียง การรวบรวมข้อมูลที่ได้มีการเผยแพร่ มานำเสนอ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพการทำงานให้มากขึ้นเท่านั้น
ที่มา : สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
รายงานพิเศษ! ตอน 1 ใครบริหารและจัดการหนี้สาธารณะ
https://mekhanews.com/2021/05/26/who-manages-public-debt/?fbclid=IwAR3zH1D2BubbJYyNT4JeYA4S49yhEVm-6QT4Lt57riIxO_lWmB5Iz0fU6dU