นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 มีนาคม 2565 อนุมัติหลักการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยใช้ที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 141 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 จำนวนวงเงินลงทุน 1,411.70 ล้านบาท
เพื่อเสริมสร้างความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี วิทยาการทางการแพทย์ และระบบบริการทางการแพทย์รองรับการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติ ที่ทันสมัย พัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ มูลค่าสูงเชื่อมโยงการท่องเที่ยวนานาชาติ โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ
มีค่า นิวส์ สรุปสาระสำคัญของโครงการฯ มาให้ทุกคนเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ดังนี้
1. การดำเนินโครงการฯ โดยมีจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย
1.1 ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (International Health/Medical Plaza)
1.2 ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care)
1.3 ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) หรือ ศูนย์การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต
1.4 ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center)
2. รูปแบบการบริหารจัดการโครงการ ฯ กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าอยู่ระหว่างการหารือ มี 5 รูปแบบ ได้แก่
2.1 ภาครัฐดำเนินการเอง
2.2 รูปแบบพิเศษ
2.3 โรงพยาบาลกึ่งรัฐกึ่งเอกชน
2.4 องค์กรมหาชน
2.5 ภาครัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) หลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติในหลักการการจัดสรรงบประมาณให้ ดำเนินโครงการแล้ว
ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น
1. เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา
2. เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และท้องถิ่น ในพื้นที่ หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19
3. สร้างโอกาสการลงทุน เกิดการกระจายรายได้สำหรับภาคเอกชน
4. เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่น ส่งผลให้มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น
5. ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า การพัฒนาโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก จะเป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมพัฒนาประเทศต่อไป