มีค่า นิวส์ ทราบจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนที่ควบคุมน้ำหนัก หรือลดน้ำหนัก ด้วยการทำ Intermittent Fasting หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “IF” ควรปฏิบัติและมีข้อระมัดระวัง ดังนี้
1. ผู้ที่เริ่มต้น แนะนำให้เริ่มอดอาหาร 12 ชั่วโมง โดยเลื่อนการกินมื้อแรกให้ครบ 12 ชั่วโมงจากมื้อสุดท้ายของวันก่อนหน้าแล้วค่อย ๆ เลื่อนออกไปทีละชั่วโมงในสัปดาห์ถัดไป
2. ควรเริ่มจากงดอาหารเช้า เพราะหากงดอาหารเย็น ตื่นขึ้นมาอาจจะมีอาการหิวได้ง่ายกว่า
3. สามารถออกกำลังกายในช่วงการทำ IF ได้ตามปกติ
4. ควรจัดสรรเวลาการอดอาหารให้เหมาะสมกับกิจกรรมประจำวัน โดยคำนึงถึงเวลาการทำงานเป็นหลัก
5. เมื่อเราเกิดความชำนาญมากขึ้นสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำ Fasting ได้ตามความเหมาะสม
6. ต้องบริโภคอาหาร เพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ
7. ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
8. หากไม่ไหว อย่าฝืน เพราะหากร่างกาย ยังไม่พร้อม ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพตามมาได้
9. สภาพร่างกายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ควรศึกษาข้อมูล อย่างละเอียดหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งตรวจร่างกายก่อนเสมอ
กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการทำ IF ได้แก่
1. เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจากการอดอาหารนานเกินไปจะยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเจริญเติบโต และการยืดยาวของกระดูก
2. หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เนื่องจากการอดอาหารระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้แม่และเด็กในครรภ์ขาดสารอาหาร
3. คนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น
– โรคกระเพาะอาหาร การอดอาหารนาน จะทำให้อาการแย่ลงเพราะกรดในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น
– โรคเบาหวาน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสัมพันธ์กับอาหาร หากอดอาหารนานระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก (Hypoglycemia) อาจเป็นอันตรายได้
– ผู้ที่มีภาวะเครียดสะสมหรือผู้ป่วยมีพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ เช่น คลั่งผอม ล้วงคอ กินไม่หยุด เป็นต้น
– บุคคลที่จำเป็นต้องพบปะผู้คนตลอดวัน บุคคลที่มีช่วงเวลาทำงานหลากหลาย (เข้าเวร)
– ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากการอดอาหารนานเกินไปอาจส่งผลกับการมีรอบเดือนได้
สำนักโภชนาการ แนะนำเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ กรณีไม่สะดวกทำ IF
1. เลิกกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรืออาหารที่ให้โทษต่อร่างกาย เช่น ของมัน ของทอด ของหวาน ขนมกรุบกรอบต่าง ๆ
2. เมื่อกินอาหารแต่ละมื้อ ให้ลดเค็มหรือโซเดียมให้น้อยลง ลดหวานโดยเฉพาะน้ำตาล ไม่กินจนอิ่มแน่น เลือกอาหารที่มีแคลอรีต่ำ โปรตีนสูง เช่น ข้าวไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื่องจากมีไขมันน้อยและย่อยได้ง่าย
3. หันมาเลือกเมนู ต้ม นึ่ง ย่าง และเพิ่มผัก ผลไม้เข้าไปในทุกมื้อจะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ
4. ออกกำลังกายเป็นประจำและดื่มน้ำเปล่าสะอาด
5. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
ที่มา : กรมอนามัย เผยแพร่ 29 มีนาคม 2565 https://www.facebook.com/photo/?fbid=279119707730532&set=a.242899614685875