“โรคโควิด” หลายคนได้ยินได้ฟัง อาจจะขวัญหนีดีฝ่อ ไม่สบายใจ ไม่สบายหู วันนี้ มีค่า นิวส์ รู้มาว่า ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้เรียก คำว่า “โรคโควิด” เป็นภาษาบาลีว่า “โควิโท” แทนชื่อ “โรคโควิด” พร้อมทั้งบัญญัติคำดังกล่าว ลงในบทสวดมนต์ไล่โควิดด้วย
มีวัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชน และเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อประเทศไทย
- เพื่อให้การใช้ศัพท์ “โรคโควิด” ในบทเจริญพระพุทธมนต์ถูกต้องตามหลักภาษาบาลี และเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อาราธนาพระภิกษุ และเชิญบุคคลเข้าร่วมถวายความเห็นชอบ ดังนี้
1. พระธรรมราชานุวัตร วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
2. พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
3. นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้แทนสำนักพระราชวัง
โดยที่ประชุมอภิปรายกันกว้างขวาง สรุปความ คำว่า “โรคโควิด” หรือ “โควิด” เป็นศัพท์เฉพาะ (อสาธารณนาม) ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า “COVID’ หรือ Corona Virus Disease เมื่อนำมาเขียนเป็นภาษาบาลี ต้องปริวรรตอักษรเป็นอักษรโรมัน ที่ใช้เขียนภาษาบาลี และเป็นภาษาบาลีสากล
ทั้งนี้ ได้เปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษ และตัวสะกดในแม่กดของภาษาไทย รวมถึงเปรียบเทียบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 กระทั่งได้มติเห็นชอบเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “โควิโท”
ที่มา : เฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา