ประเด็นร้อนที่กำลังเป็นที่พูดถึงและประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากตอนนี้ คือ การเดินทางเข้าประเทศไทย ในสถานการณ์ที่มีโรคฝีดาษลิงระบาดว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงมีมาตรการอย่างไร มีค่า นิวส์ มีคำตอบให้ครับ
โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมควบคุมโรค โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เริ่มให้บริการคัดกรองโรคฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงภายในประเทศ จะเน้นการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศในแถบทวีปแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรป ที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว ซึ่งเมื่ออยู่ที่สนามบินในประเทศต้นทาง อาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย อาจมีอาการได้ ซึ่งจะคัดกรอง พร้อมทั้งแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็น QR code โดยคัดกรอง ดังนี้
- มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส
- ประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต ประกอบกับมีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด
- เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน
ซึ่งหลัก ๆ ในบัตร จะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย
ส่วนการป้องกันโรคฝีดาษลิง ให้ปฏิบัติ ดังนี้
- กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือ เจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา : นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565