โรคซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วยทางอารมณ์ ที่มีอาการหลัก คือ อารมณ์เศร้า ซึ่งสังเกตได้จากรู้สึกเศร้าหดหู่ ท้อแท้ บางคนจะรู้สึกไม่อยากทำอะไร ไม่อยากไปเรียน หรือไปทำงาน พูดคุยกับคนอื่นน้อยลง รู้สึกตัวเองไม่มีค่า บางรายจะมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ สมาธิไม่ดี ความรู้สึกทางเพศลดลง โดยอารมณ์เศร้าดังกล่าว จะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต แล้วอาการอย่างไร ถึงจะเข้าข่ายป่วยโรคซึมเศร้า และมีวิธีป้องกันอย่างไร มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ทุกคนอ่านกันค่ะ
โรคซึมเศร้าต่างกับอารมณ์เศร้าทั่วไป อย่างไร ?
ทุกคนเคยมีช่วงเวลาที่อารมณ์เศร้า โดยเฉพาะเวลามีเรื่องหรือ สถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกเศร้า เช่น เวลาเกิดความผิดหวังหรือสูญเสีย แต่โดยทั่วไปความรู้สึกต่อเหตุการณ์เหล่านี้จะมาแล้วก็ไป สามารถกลับสู่อารมณ์ปกติได้ แต่หากอารมณ์เศร้านั้นคงอยู่นาน เช่น รู้สึกทั้งวันติดกันประมาณ 2 อาทิตย์ อาจจะไม่ใช่อารมณ์เศร้าทั่วไป หรือหากอารมณ์เศร้านั้นมีความรุนแรงมาก เช่น เศร้าจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือในบางรายมีถึงขั้นมีอาการหูแว่วร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์
อะไรเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า ?
ความเชื่อที่ว่าคนเป็นโรคซึมเศร้า เป็นคนที่อ่อนแอ เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้ เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าโรคซึมเศร้ามีสาเหตุร่วมระหว่างการทำงานของสมองและปัจจัยทางด้านจิตใจ ในเรื่องการทำงานของสมองนั้นพบว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานของสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล เช่น สารสื่อประสาท ฮอร์โมน หรือมีเซลล์สมองในบางส่วนทำงานลดลง ส่วนปัจจัยด้านจิตใจ ได้แก่ ความเครียดที่สะสม การมีมุมมองด้านลบต่อตัวเอง และเรื่องต่าง ๆ วิธีการปรับตัวที่มักจะโทษตัวเอง เป็นต้น
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ และจะชวนไปพบแพทย์อย่างไรดี ?
สัญญาณที่บอกว่า ควรไปพบแพทย์ คือ อาการซึมเศร้าเป็นต่อเนื่องนาน (เกิน 2 สัปดาห์) หรืออาการส่งผลต่อการทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรืออาการรุนแรง เช่น มีความคิดทำร้ายตัวเอง วิธีชวนมาพบแพทย์ควรชวนโดยพูดถึงอาการที่เป็นห่วง เช่น “เราเห็นว่าเธอนอนไม่ค่อยหลับห่วงว่า เวลาเดินทางจะเป็นอันตราย” ไม่แนะนำให้ชวนโดยพูดถึงตัวโรค เช่น “ฉันคิดว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยหลายคนจะมีความลังเลใจ ในการพบแพทย์ ควรชักชวนอย่างจริงจังและมาเป็นเพื่อน”
เข้ารับการรักษาหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไหน ?
ในการวินิจฉัยและรักษาเบื้องต้นนั้นท่านสามารถขอรับบริการในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ทุกแห่ง หรือขอคำแนะนำทางสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเพจเฟซบุ๊ก (Facebook Page) สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
โรคซึมเศร้ารักษาหายไหม ?
ในปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้ามีความก้าวหน้ามากขึ้นสามารถตั้งความหวังว่าจะหายได้ ครึ่งหนึ่งของการป่วยจะมีระยะเวลาการป่วยที่สั้นและกลับสู่ภาวะปกติใน 3 เดือน หากเข้ารับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ต้องใช้เวลาในการปรับระบวนการรักษา
การรักษา ?
แม้ว่าการให้กำลังใจหรือการพยายามทำใจจะมีประโยชน์ต่อคนที่มีอารมณ์เศร้า แต่ไม่สามารถทำให้ไรคอารมณ์เศร้าหายได้ การรักษาโรคซึมเศร้าแบ่งกว้าง ๆ เป็นสองระยะ คือ
1. ระยะที่มีอาการ ซึ่งมีเป้าหมายให้อาการทุเลา
2. ระยะป้องกันการกำเริบ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ ลดโอกาสที่โรคจะเป็นซ้ำ
ดังนั้น ในการรักษาโรคซึมเศร้าเมื่ออาการทุเลาแล้ว ยังไม่ควรหยุดการรักษา ควรจะรักษาต่อเพื่อลดการเป็นซ้ำ
วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า ประกอบด้วย
1. การใช้ยา
2. การทำจิตบำบัด
3. การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก หรือกระแสไฟ (ใช้ในกรณีที่สองวิธีแรกไม่ได้ผล หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน)
การใช้ยารักษา ?
ปัจจุบันมียารักษาโรคซึมเศร้าหลายชนิดหลายยี่ห้อ ซึ่งให้ผลการรักษาพอ ๆ กัน ผู้ป่วยสามารถปรึกษาและสอบถามผลข้างเคียงจากแพทย์ผู้รักษาได้ยาจะช่วยปรับการทำงานของสารเคมีในสมองให้เข้าสู่สมดุล สิ่งที่ควรทราบ คือยาที่ใช้รับประทานทุกตัวจำเป็นต้องรอเวลาราว ๆ 2-3 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผลการรักษา ความสม่ำเสมอเรื่องการรับประทานยามีผลมากต่อประสิทธิภาพการรักษา ไม่สามารถเลือกรับประทานยาเฉพาะวันที่มีอารมณ์เศร้าได้
ระยะเวลาในการรักษานานไหม ?
ระยะเวลาในการใช้ยาโดยทั่วไปไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในรายที่เพิ่งเป็น 1-2 ครั้ง หากเคยเป็นมามากกว่านั้นจะต้องทานยานานขึ้น อย่างไรก็ตามโดยทั่วไป ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาปลอดภัย ที่จะรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โรคซึมเศร้าชนิดที่รักษายาก ?
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมาก ตอบสนองดีกับการรักษาด้วยยาตัวแรก อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ต้องมีการปรับการรักษาเพิ่มเติมกรณีที่ไม่ตอบสนองด้วยยาตัวแรก โดยการใช้ยามากกว่าหนึ่งชนิดหรือใช้การรักษาวิธีอื่นร่วม ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นกลุ่มที่รักษายาก ได้แก่
1. ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นซ้ำหลายครั้ง (มักจะเกิดจากการทานยาไม่สม่ำเสมอ)
2. ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมอื่น ๆ เช่น มีโรคทางสุขภาพจิต หรือโรคเรื้อรังทางร่างกายร่วมด้วย หรือ
3. ผู้ป่วยใช้สารที่มีผลต่อจิตประสาทจนเกิดปัญหา เช่น สรา กัญชา กระท่อม หรือสารเสพติดต่าง ๆ
จะช่วยเหลือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร ?
1. รับฟัง การมีคนรับฟังเป็นสิ่งที่ผู้เป็นโรคซึมเศร้าต้องการ คุณอาจจะรู้สึกร่ำคาญที่ต้องฟังเรื่องเดิมซ้ำๆ แต่การรับฟังช่วยให้คนเป็นโรคได้มีโอกาสระบายและรู้สึกว่ามีคนเห็นใจ คุณไม่ต้องพยายามให้คำแนะนำนอกจากเขาขอ
2. ใช้เวลากับผู้เป็นโรคซึมเศร้า
3. ให้กำลังใจ สนับสนุนผู้ป่วยให้ดูแลกิจวัตรประจำวัน หรือชวนไปออกกำลังกาย
4. หากสังเกตว่าอาการแย่ลง หรือเริ่มบ่นไม่อยากมีชีวิตอยู่ควรพามาปรึกษาแพทย์
5. เพื่อนและญาติผู้ป่วยควรใส่ใจดูแลตัวเองด้วย การใช้เวลากับผู้เป็นโรคซึมเศร้าอาจจะทำให้คุณรู้สึกหดหู่ การดูแลตัวเอง การพักสลับให้มีคนช่วยดูแลผู้ป่วย จะทำให้คุณมีกำลังในการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น
6. ช่วยให้ผู้ป่วยมารับการรักษาสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอเรื่องการรักษาและการรับประทานยามีส่วนสำคัญมากต่อผลสำเร็จของการรักษา
หากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีความคิดทำร้ายตัวเองควรทำอย่างไร ?
คุณสามารถถามเขาได้ การถามผู้ป่วยเรื่องนี้ จะไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยทำร้ายตัวเอง ถ้ามีความคิดดังกล่าวสามารถช่วยได้โดยเลื่อนการพบแพทย์ให้เร็วขึ้น หรือโทรขอคำปรึกษาได้ที่
– สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323
– ศูนย์รับฟังของสมาคมสะมาริต้นส์ โทร. 02-113-6789
– หรือศูนย์รับฟัง ให้คำปรึกษา Depress We Care โดยโรงพยาบาลตำรวจ โทร. 081-932-0000
ที่มา : https://www.facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation
อ่านเพิ่มเติม >> ปรึกษาโรคซึมเศร้า หาหมอที่ไหนดี ลิสต์มาให้แล้ว รายชื่อโรงพยาบาล ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อัพเดท 2022
อ่านเพิ่มเติม >> โรคซึมเศร้า มีอาการ ยังไง ?