ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก ในการทำ หรือปรุงอาหารที่มีกัญชา และกัญชงเป็นส่วนผสม เพราะกัญชา ถึงแม้จะมีการใช้อย่างเสรีมากยิ่งขึ้น แต่ว่าก็ยังมีข้อควรระวัง และข้อห้ามใช้จำนวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่ง มีค่า นิวส์ ทราบจาก
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า เรื่องอาหารและขนมผสมกัญชา กัญชง เกรงเด็กจะซื้อไปบริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เลยมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำกับดูแลอาหารที่มีส่วนผสมกัญชา กัญชง ให้มีคุณภาพมาตรฐาน โดยคำนึงถึงข้อมูลความปลอดภัยตามหลักวิชาการ มีการกำกับดูแลให้ผลิตภัณฑ์อาหารใส่กัญชา กัญชง ได้รับ อย. ถูกต้อง กำหนดให้ฉลากผลิตภัณฑ์แสดงข้อแนะนำการบริโภคเพื่อความปลอดภัย ดังนี้
- ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ
- เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน โดยต้องแสดงข้อความคำเตือนให้เห็นได้ชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง
- หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที
- ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน
- อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตต้องมีความปลอดภัย และมีผลวิเคราะห์ยืนยันปริมาณ THC ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด และมีมาตรการกำกับดูแลสถานที่ผลิต และคุณภาพมาตรฐานอาหาร จะมีมาตรการเฝ้าระวังอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ในท้องตลาดทุกช่องทางการจำหน่าย และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณ THC/CBD และคุณภาพมาตรฐานอื่นที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบไม่ได้คุณภาพมาตรฐานก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
รวมถึงกรณีมีข่าวเด็กรับประทานขนมมีส่วนผสมกัญชา กัญชง แล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ สังคม มีข้อห่วงใยในการเข้าถึงอาหารและขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ของเด็กและเยาวชน ทำให้ อย. จัดประชุมผู้ประกอบการค้าปลีกเพื่อขอความร่วมมือ ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ในการจัดวางอาหารและขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ให้เหมาะสมโดยแยกอาหารผสมกัญชา กัญชง จัดวางเป็นกลุ่มเฉพาะ จัดวางให้ลดการหยิบสินค้าเอง และมีป้ายชัดเจนว่า “งดจำหน่ายกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี” และได้กำชับขอความร่วมมือผู้ประกอบการไม่ให้จำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา