มีค่า นิวส์ เชื่อว่า หลายคนคงเคยมีอาการ หนังตากระตุก แน่ ๆ บางครั้งก็กระตุกข้างซ้าย บางครั้งก็กระตุกข้างขวา แล้วก็เชื่อว่าเป็นสัญญาณบอกเหตุ เป็นลางบอกเหตุ ขวาร้าย ซ้ายดี แต่จริง ๆ แล้ว รู้หรือไม่ว่า มันอาจจะไม่ใช่ลางบอกเหตุอย่างที่เราเข้าใจ และอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงอาการดังกล่าวว่าเป็นอาการ Blepharospasm หรือภาวะตาปิดเกร็ง เกิดจากอาการเกร็งของกล้ามเนื้อดวงตา
ปัจจุบันมักพบผู้ป่วย เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และช่วงอายุที่พบบ่อย คือ ช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี มักเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ตา อาการเริ่มต้นของภาวะนี้ คือ
1.มีกระพริบตาบ่อยครั้ง ผู้ป่วยมักให้ประวัติว่ารู้สึกเคืองตาแสบตา
2.จากนั้นจะเริ่มมีอาการเกร็งหรือรู้สึกดึงรั้ง หรือแน่นรอบดวงตา โดยเกิดขึ้นทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้มีความลำบากในการลืมตา
3.ตาเริ่มหรี่แคบลงจนถึงตาเปิดไม่ได้ชั่วขณะ อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยระยะเวลาที่เกิดเป็นวินาทีถึงหลายนาทีได้ การโดนแสงแดด หรือไฟสว่างจ้า ความเครียดวิตกกังวล มักกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น
4.อาจมี sensory trick หรือการบรรเทาอาการจากการสัมผัสเบา ๆ ที่บริเวณอื่น เช่น หางตา หรือแก้มแล้วทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาคลายตัว พบได้ในระยะแรกของโรค จากนั้นอาการจะค่อย ๆ หายไป ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการ ภาวะอื่น ที่อาจมีอาการคล้าย Blepharospasm เช่น หนังตาตกจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาการที่ไม่สามารถเปิดตาได้จากสมองส่วนกลาง หรือใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นต้น การแยกโรคต้องอาศัยแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย
นอกจากนี้ Blepharospasm อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการเกร็งของใบหน้า คือ พบร่วมกับอาการเกร็งบริเวณปาก หรือในบางรายอาการเกร็งอาจลามถึงบริเวณคอหรือทั้งร่างกาย
การรักษาด้วยการรับประทานยาไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาลดอาการเกร็ง เช่น ง่วงนอน ปากคอแห้ง อาการสับสน เป็นต้น
ในปัจจุบันการรักษา จึงเน้นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ และไม่มีผลข้างเคียง การฉีดยาโบทูลินัมจึงเป็นการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยเพื่อลดอาการเกร็งรอบดวงตา ได้นาน 3-6 เดือน ต่อการฉีด 1 ครั้ง ซึ่งมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยและหายได้เองเมื่อยาหมดฤทธิ์
อย่างไรก็ตามการฉีดโบทูลินัม ไม่ได้ทำให้หายขาดจากโรคเป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง หลีกเลี่ยงการขับรถหากยังคุมอาการได้ไม่ดีพอ และเฝ้าระวังอาการทางระบบประสาทอื่นด้วย
ที่มา : กรมการแพทย์