นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้แร่สูงขึ้น ทั้งแร่โลหะพื้นฐาน โลหะมีค่า แร่หายาก และแร่อุตสาหกรรมอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก นโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ซึ่งในปี 2563 มูลค่าเพิ่มของการทำเหมืองแร่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังประสบปัญหาเกี่ยวกับแร่ในด้านต่างๆ อาทิ ต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่จากต่างประเทศ ขาดการวิจัยแลพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแร่ ขาดมาตรการและแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมแหล่งวัตถุดิบในกระบวนการผลิต และขาดการลงทุนเพื่อลดผลกระทบจากการทำเหมือง
ครม.จึงมีมติเห็นชอบในหลักการนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยระยะแรกให้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสม ซึ่งแบ่งกิจการที่ต้องการส่งเสริมออกเป็น 3 ประเภท มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ ประกอบด้วย
1.กลุ่มกิจการสำรวจแร่
2.กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่และหรือแต่งแร่
3.กลุ่มกิจการถลุงแร่ หรือประกอบโลหกรรม
พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป