เสร็จสิ้นลงไปแล้ว สำหรับ งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2565 หรือ TechnoMart 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2565 ภายใต้แนวคิด “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยในงานนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำ 3 ผลงานเด่นของ วศ.มาจัดแสดงในงานดังกล่าวในรูปแบบ Hybrid Exhibition
วัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่โดดเด่นของ อว. ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง วศ.ในฐานะหน่วยงานหลักของ อว. ที่มีภารกิจหลักในการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ และรับรองบริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับ 3 ผลงานเด่น ดังกล่าว ประกอบด้วย
1.การพัฒนาการทดสอบอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจจ่ายอากาศบริสุทธิ์แบบหมวกคลุมศีรษะ หรือ PAPR
2.รถพยาบาลเคลือบสารจุลชีพ
3.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยกระบวนการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงผลงานแต่ละชิ้น โดยเริ่มที่ผลงานการพัฒนาการทดสอบอุปกรณ์ PAPR ที่เป็นผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน
ซึ่ง วศ.จัดทำประกาศ “ข้อกำหนดคุณลักษณะอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจจ่ายอากาศบริสุทธิ์แบบหมวกคลุมครอบศีรษะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์” หรือ PAPR เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 และได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาเครื่องมือทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของชุด PAPR ทางการแพทย์ ที่กลุ่มผู้ผลิตคนไทยพัฒนาขึ้น
เพื่อให้ได้มาตรฐาน และสร้างความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นใช้เองภายในประเทศ โดยสามารถทดสอบรายการสำคัญ เช่น ประสิทธิภาพการรั่วซึม ความสามารถในการจ่ายอากาศและการต้านการหายใจ ทั้งนี้ การทดสอบ PAPR ดังกล่าว เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายยังสามารถใช้กับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย
ส่วนผลงานรถพยาบาลเคลือบสารจุลชีพ ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นผลงานที่ต่อยอดจากการพัฒนาวัสดุเคลือบผิวอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือสารต้านจุลชีพที่มีส่วนประกอบของนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ของทีมวิจัย วศ. ที่ประสบความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการและผ่านการรับรองมาตรฐานประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค และเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง
วศ. ได้ร่วมมือกับ บริษัทที เค ดี ไฟเบอร์ จำกัด (แครี่บอย) พัฒนานวัตกรรมกระบวนการฉีดเคลือบสารต้านจุลชีพบนพื้นผิวภายในรถพยาบาล รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพในการยึดเกาะบนพื้นผิววัสดุต่างๆ ในรถพยาบาล ซึ่งพบว่าแม้ผ่านการทำความสะอาดด้วยวิธีปกติแล้วถึง 100 ครั้ง สารเคลือบเหล่านี้ก็ยังยึดติดบนพื้นผิวชนิดต่าง ๆ ได้
ขณะที่การขับเคลื่อน เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) ด้วยกระบวนการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน วศ. โดยกองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ได้พัฒนากระบวนการหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดเฉพาะผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : CE) โดยพิจารณาถึงเกณฑ์กำหนดด้านความปลอดภัย เช่น
1.สารปนเปื้อน
2.ความชื้น
3.จุลินทรีย์ และคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น
- การรั่วซึม
- ความคงรูป
- กระบวนการผลิต ที่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดสุขลักษณะอนามัย
เบื้องต้น วศ. ได้เปิดบริการให้ใบรับรองผลิตภัณฑ์ภาชนะสัมผัสอาหารตามธรรมชาติ : กาบหมาก โดยมีผลิตภัณฑ์มาใช้บริการแล้วกว่า 30 โมเดล