หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 มิถุนายน 64 มีมติเห็นชอบขยายเวลาดำเนินการ ให้ต่างด้าวกลุ่มมติ 29 ธ.ค. 63 ตรวจโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาตทำงาน (บต.48) ออกไปถึง 13 ก.ย. 64
และวันนี้ 25 มิถุนายน 64 นายกรัฐมนตรี สั่งปิดแคมป์คนงาน ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคใต้ 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา สงขลา นราธิวาส โดยใช้หลัก บับเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble & Seal) และมอบหมายกระทรวงแรงงาน ดูแลแรงงาน ทั้งคนไทย และต่างด้าว ตลอดระยะเวลาการควบคุมโรค นาน 1 เดือน อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ https://mekhanews.com/2021/06/25/resolution-of-the-meeting-no-lockdown-just-asking-that-you-dont-have-to-travel/
กระทรวงแรงงาน ออกมาย้ำว่า นายจ้าง หรือ สถานประกอบการไม่ต้องกังวลใจ แรงงานต่างด้าวตาม มติครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ สามารถอยู่ และทำงานได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหลบหนีการตรวจสอบ ขอให้อยู่ในจังหวัดที่ตั้งสถานประกอบการ เพราะหากตรวจพบมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน นอกจากจะเสี่ยงแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 แล้ว ยังอาจมีความผิดตาม พรบ.โรคติดต่อ และ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย
แต่ถ้ากรณีจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน ขอให้ติดต่อขออนุญาตผ่านทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด และปฏิบัติตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ สำหรับแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เสี่ยง ทางกระทรวงแรงงาน จะลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก ซึ่งกลุ่มเสี่ยงจะได้ฉีดวัคซีนโควิด -19 โดยใช้งบกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ฝากถึงนายจ้าง หรือ สถานประกอบการ อย่ารับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หากไม่มีการจ้าง ย่อมไม่มีการลักลอบเข้ามาทำงาน ซึ่งกรมการจัดหางาน จะตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีกับคนต่างด้าว และนายจ้างที่กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด
สำหรับนายจ้าง ที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงาน โดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี