โรคหัด (Measles) คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งผู้ติดเชื้อจะเกิดผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมเป็นไข้ร่วมด้วย โดยโรคหัดเกิดจากไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส (Paramyxovirus) สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศ หรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง เชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย โรคหัดถือเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยไม่พบการแพร่เชื้อดังกล่าวในสัตว์ ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็ก รวมทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กแม้จะมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคแล้วก็ตาม
อาการของโรคหัด โดยทั่วไปโรคจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดทั่วไป แต่มักแสดงอาการของโรคภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส ดังนี้
- ไข้ตัวร้อน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัดในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเริ่มเป็นไข้ประมาณ 10-12 วันหลังได้รับเชื้อ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง และมีตุ่มคอพลิค (Koplik Spots) หรือตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็ก ๆ ตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม
- ผื่นขึ้นตามร่างกาย เมื่อผู้ป่วยออกอาการได้ 3-5 วัน จะเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง โดยเกิดผื่นแดงหรือสีแดงออกน้ำตาลขึ้นเป็นจุดบนหน้าผากก่อน แล้วค่อยแพร่กระจายมาที่ใบหน้าและลำคอ ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง
การป้องกันโรคหัด สามารถทำได้ดังนี้
- เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles Vaccine) ครบตามกำหนด โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันคือวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด (Measles) คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella) โดยทารกสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ 9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี
- เด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน หรือรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด และหัดเยอรมัน 1 เข็ม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
การรักษาโรคหัด
- ปัจจุบันยังไม่มีตัวยา หรือวิธีทางการแพทย์ที่ได้สำหรับการรักษาและกำจัดเชื้อไวรัสของโรคหัดได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองให้อาการทุเลาลงได้ด้วยการดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย อยู่ในที่แห้งอุณหภูมิพอเหมาะเพื่อลดอาการไอบ่อยและเจ็บคอ และอาจให้วิตามินเอเสริมให้กับร่างกาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
- เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ แนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัดที่เริ่มมีผื่นขึ้นอยู่ในบ้าน ไม่ไปโรงเรียน ทำงาน หรือพบปะผู้คนตามที่สาธารณะเป็นเวลาอย่างน้อย 4 วันหลังจากผื่นเริ่มปรากฏ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้คนรอบข้าง
ที่มา: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค