ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จัดตั้งโดย สำนักงานประกันสังคม เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนแบบองค์รวม ทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายควบคู่กับการฟื้นฟูด้านจิตใจ และฝึกอาชีพให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยพัฒนาศักยภาพของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานให้มีความพร้อมในการให้บริการ ทั้งในด้านบุคลากร มีนักสังคมสงเคราะห์คอยให้คำปรึกษา และ นักกายภาพบำบัด พร้อมเครื่องมือในการบำบัดฟื้นฟูทางการแพทย์
อ่านเพิ่มเติม >> ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน มีหน้าที่อะไร มีกี่แห่ง
เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จะได้รับ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ค่าบาดเจ็บจากการทำงาน เท่าไหร่
1.กรณีเจ็บป่วย หรือ ประสบอันตราย
ลูกจ้างสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ แต่หากรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เกิน 1,000,000 บาท และกรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง
- กรณีสูญเสียสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย ได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ไม่เกิน 10 ปี
- กรณีทุพพลภาพ ได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ตลอดชีวิต
- กรณีตายหรือสูญหาย ได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมาย พร้อมค่าทำศพ 50,000 บาท
2.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตราย สำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูได้รับตามอัตรา
- ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพโดยให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัดไม่เกิน วันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท แต่รวมแล้ว ไม่เกิน 24,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มได้อีก ไม่เกิน 140,000 บาท โดยคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา
- ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่รวมแล้ว ไม่เกิน 160,000 บาท
ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิ สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย และหากเกิดเจ็บป่วยหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง โดยแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเกิดเนื่องจากการทำงานที่ผ่านมา สามารถยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย