หลังจากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 มิถุนายน 2566 รับทราบรายงานประจำปี 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในภาพรวม สามารถช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา รวม 1,396,208 คน มีค่า นิวส์ เลยจะพามาทำความรู้จักกองทุนนี้กันค่ะ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยปรากฎในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ
มีการดำเนินการสำคัญ ดังนี้
1.มาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยระดมเงินบริจาคจากภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ นักเรียนทุนเสมอภาคระดับชั้น ป.6 และ ม. 3 จำนวน 103,987 คน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 302 คน ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง คือ พิษณุโลก ขอนแก่น ยะลา และกรุงเทพมหานคร
2.การดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริม พัฒนา และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่
2.1 กลุ่มเด็กปฐมวัย (ระดับการศึกษาภาคบังคับชั้น ป.1-ม. 3)
- โครงการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (ทุนเสมอภาค) เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนในวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ม. 3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษา ด้วยการอุดหนุนงบประมาณโดยตรงให้กับผู้เรียน ในสถานศึกษา 5 สังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 1,307,152 คน
2.2 กลุ่มเยาวชน ในระดับการศึกษา สูงกว่าภาคบังคับ
- โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อช่วยเหลือ กลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และสำเร็จการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับ ปวช. หรือเทียบเท่า ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและส่งเสริมให้ได้งานทำ เมื่อสำเร็จการศึกษา จำนวน 4 รุ่น รวม 6,599 คน
- โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ (ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ) เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ กลุ่มเยาวชนในระดับชั้น ปวช. หรือ ปวส. ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ผลการเรียนดีในระดับประเทศได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา (ป.ตรี-โท-เอก) จำนวน 4 รุ่น รวม 123 คน
2.3 กลุ่มเยาวชน นอกระบบการศึกษา และประชากร วัยแรงงาน
- โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชน และแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส โดยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา รูปแบบการจัดการศึกษาโดยชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการ ของกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความจำเป็น ผ่านหน่วยจัดการเรียนรู้ระดับตำบล จำนวน 110 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด
2.4 กลุ่มครู โรงเรียน และหน่วยจัดการเรียนรู้
- โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (ครูรัก(ษ์)ถิ่น) เพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจน หรือด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่มีผลการเรียนดีและมีจิตวิญญาณความเป็นครูได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์และได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตนเอง จำนวน 3 รุ่น รวม 863 คน
- โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง) เพื่อพัฒนาโรงเรียน ครู และบุคลากร ทางการศึกษาทั้งระบบอย่างต่อเนื่องและเกิดเป็นต้นแบบในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการและการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ จำนวน 13,281 คน และนักเรียนจำนวน 174,364 คน ได้รับการพัฒนาแล้ว
- ดำเนินโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะครู จำนวน 685 คน (ครอบคลุมโรงเรียนที่มีอยู่ 68 แห่ง ใน 22 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ) ให้สามารถจัดการเรียนรู้ เสริมทักษะทางวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตรวมทั้งส่งเสริมอาชีพของนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ
- โครงการต้นแบบการพัฒนาสมรรถนะครูนอกระบบการศึกษา จำนวน 210 คน ส่งผลให้เกิดต้นแบบกลุ่มครูประจำการ ต้นแบบกลุ่มครูนักพัฒนา และต้นแบบกลุ่มครูจิตอาสา
- โครงการขยายผลการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้โดยเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน 315 คน ซึ่งเป็นการสร้าง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญร่วมกัน และการร่วมคิดค้นเครื่องมือหรือกลไกที่สามารถนำไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
3.การดำเนินงานเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการทำงานระดับพื้นที่และการประเมิน เพื่อการพัฒนา โดยคาดหวัง ให้เกิด “แผนบูรณาการระดับจังหวัด” ครอบคลุม 12 จังหวัด ทั่วประเทศ เช่น จ. แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา พิษณุโลก และสุโขทัย
4.การวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวม 24 ชิ้นงาน ครอบคลุม งานวิจัยด้านนวัตกรรมระบบเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และงานวิจัยด้านการประเมินผล
ขอบคุณข้อมูล กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, รัฐบาลไทย