น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ก.ค. 66 ได้รับทราบกรณีที่ อุทยานธรณีโคราช ได้รับการรับรองเป็น อุทยานธรณีโลก ของ ยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ซึ่งการได้เป็นสมาชิกอุทยานธรณียูเนสโกครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น
สำหรับหลักเกณฑ์การเป็น อุทยานธรณีโลก ของยูเนสโก มีหลายข้อ มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ดังนี้
1.ต้องเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นหนึ่งเดียว หรือ เป็นสถานที่ซึ่งอาจมีเพียงที่เดียว และมีลักษณะทางภูมิทัศน์ที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาโลก
2.มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการมากขึ้น
3.เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีโลก (Global Geopark Network :GGN) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ ดำเนินโครงการหรือกิจการรมร่วมกันในเครือข่าย
ทั้งนี้ หลังจากมีสถานะเป็นอุทยานธรณีโลกแล้ว ภายใน 4 ปีจะต้องได้รับการประเมินอีกครั้ง เพื่อรักษาคุณสมบัติและคุณภาพของอุทยาน โดยหากผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับการต่ออายุคราวละ 4 ปี แต่หากไม่ผ่านหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการบริหารอุทยานธรณีโลก ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามขั้นตอนและข้อเสนอแนะของยูเนสโกให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หากไม่ดำเนินการ ก็จะถูกถอนออกจากการเป็นอุทยานธรณีโลกต่อไป
อุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark) มีพื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอ คือ
1.อ.สีคิ้ว
2.อ.สูงเนิน
3.อ.ขามทะเลสอ
4.อ.เมืองนครราชสีมา
5.อ.เฉลิมพระเกียรติ
มีแหล่งธรณีวิทยา แหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมในพื้นที่จำนวน 35 แหล่ง ในจำนวนนี้เป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ 4 แหล่ง ได้แก่
- แหล่งอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินฯ
- แหล่งไดโนเสาร์อิกัวโนดอนพันธุ์ใหม่ของโลก
- แหล่งฟอสซิลช้างดึกดำพรรพ์
- แหล่งฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
นอกจากนี้ ยังมีภูมิประเทศเชาเควสตาแบบคู่ (เควสตาโคราช) ซึ่งเป็นภูเขามีลักษณะคล้ายมีดอีโต้ ที่นับว่า ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตลอดจนมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สอดคล้องกับแนวทางการเป็นอุทยานโลกของยูเนสโก
ทั้งนี้ หลังจากได้รับการรับรองครั้งนี้แล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีอุทยานธรณีโลก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
1.อุทยานธรณีโลกสตูล ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 61
2.อุทยานธรณีโลกโคราช
อย่างไรก็ตาม ยังมีอุทยานธรณีประเทศไทย 3 แห่ง ได้แก่
1.อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก(จ.อุบลราชธานี)
2.อุทยาธรณีเพชรบูรณ์
3.อุทยานธรณีขอนแก่น (ปัจจุบันปี 2566 ยังอยู่ระหว่างขอรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก)
ขอบคุณภาพ Khorat Geopark – อุทยานธรณีโคราช