ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ข้อมูลจากวารสารแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2566 ระบุว่า ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในประเทศไทยในปี 2565 สูงถึงร้อยละ 47.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2559 และสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย สิ่งที่น่าเป็นกังวล คนส่วนหนึ่งไม่ตระหนักว่าโรคอ้วนเป็นโรคที่ต้องรักษา โรคอ้วนอันตรายกว่าที่คิด หลายคนที่เพิกเฉยต่อ น้ำหนัก ควรหันกลับมาปรับพฤติกรรม หรือปรึกษาแพทย์ก่อนจะสายเกินไป
จะทราบได้อย่างไรว่าเรามีภาวะน้ำหนักเกิน ?
วิธีตรวจสอบภาวะน้ำหนักเกินทำได้ง่าย ๆ 3 วิธี วิธีแรก ใช้ส่วนสูงหน่วยเซนติเมตร ในเพศชายส่วนสูง -100 และ เพศหญิงส่วนสูง -105 ค่าที่ได้คือค่าน้ำหนักมาตรฐาน วิธีที่ 2 ดูค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (ตารางเมตร) เช่น น้ำหนัก 60 กิโลกรัม สูง 165 เซนติเมตร ค่า BMI เท่ากับ 22 มาจาก 60 หารด้วย (1.65 x 1.65) ซึ่งเกณฑ์ปกติอยู่ที่ 18.5-22.9 ถ้า BMI ตั้งแต่ 23 ขึ้นไป ถือว่าเริ่มมีภาวะน้ำหนักเกิน ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป ถือว่ามีภาวะโรคอ้วน วิธีที่ 3 คือ การวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย เพศชายไม่ควรมีไขมันในร่างกายเกินร้อยละ 25 ส่วนเพศหญิงไม่ควรเกินร้อยละ 33
ภาวะน้ำหนักเกินส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ?
คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมักสัมพันธ์กับการมีปัญหาสุขภาพ งานวิจัยจาก National Institutes of Health (NIH), World Health Organization (WHO) และ American Heart Association (AHA) พบว่า โรคอ้วนก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้กว่า 229 โรค และยังพบความสัมพันธ์ระหว่างค่า BMI กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ด้วย เช่น ผู้ที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป พบว่าร้อยละ 50 มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม และโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 40 พบภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคอื่น ๆ ที่พบ เช่น โรคกรดไหลย้อน ไขมันพอกตับ โรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ ยังเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตลดลง มีปัญหาสุขภาพจิต
กินให้น้อย ออกกำลังกายให้มาก เพียงพอต่อการลดน้ำหนักไหม ?
“หลายคนบอกว่าแค่กินให้น้อย ออกกำลังกายให้มาก ก็เพียงพอต่อการลดน้ำหนักแล้ว แต่หลักการนี้มักสร้างความกดดันให้กับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เพราะความอ้วนเกิดจากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน เช่น ฮอร์โมน กรรมพันธุ์ โรคประจำตัวบางชนิด รวมถึงความเครียด การกินให้น้อยและออกกำลังกายให้มากอาจเพียงพอในช่วงแรก ๆ ของการลดน้ำหนัก แต่อาจไม่เพียงพอสำหรับการลดน้ำหนักในระยะยาว หลักการของการลดน้ำหนัก คือ ต้องลดพลังงานที่กิน เมื่อลดพลังงานจากอาหาร น้ำหนักก็จะลดลง เมื่อน้ำหนักลด พลังงานพื้นฐานที่ร่างกายต้องใช้ก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้เราไม่สามารถลดน้ำหนักลงไปได้เรื่อย ๆ การคุมอาหารส่วนใหญ่ช่วยลดน้ำหนักประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว หลังจากนั้นน้ำหนักจะเริ่มคงที่ ซึ่งในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จะลดน้ำหนักได้ยากกว่าคนที่มีอายุน้อย”
ฮอร์โมนหิว–อิ่ม เป็นอย่างไร ?
ในร่างกายจะมีศูนย์ควบคุมความหิว ความอิ่ม ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส และมีฮอร์โมนที่ส่งสัญญาณเชื่อมต่อระหว่างสมองกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ตื่นนอนในตอนเช้า ร่างกายต้องการพลังงาน กระเพาะอาหารหลั่งฮอร์โมนเกรลิน ทำให้รู้สึกหิว และเมื่อรับประทานอาหารแล้ว ลำไส้เล็กหลั่งฮอร์โมน GLP-1 ทำให้รู้สึกอิ่ม
คนที่มีปัญหาน้ำหนักเกินที่ควบคุมการรับประทานอาหารได้ยาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีระบบฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว ความอยากรับประทานอาหารทำงานไม่สมดุล ดังนั้นหากควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้ว แต่ยังลดน้ำหนักได้ไม่ถึงเป้าหมาย สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางในการลดน้ำหนักให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยประเมินจากการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการบริโภค และโรคร่วมต่าง ๆ
แนวทางการรักษาภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
แนวทางการรักษาหลายวิธี อาทิ การใช้ยาลดน้ำหนักควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม ปัจจุบันในประเทศไทยมียาลดน้ำหนักที่ได้รับการรับรองข้อบ่งใช้จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีอยู่ 3 ตัว ด้วยกัน คือ phentermine, orlistat และ liraglutide
- Phentermine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ได้ระยะสั้นจำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- Orlistat เป็นยาที่ยับยั้งเอนไซม์ที่ย่อยไขมัน ช่วยลดการดูดกลับของไขมันเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับการถ่ายไขมันปนกับอุจจาระ หรือผายลมแล้วมีน้ำมันปนออกมาเลอะได้ ทั้ง phentermine และ orlistat เป็นยารับประทาน
- Liraglutide เป็นยาในกลุ่ม GLP-1 ที่ช่วยในการควบคุมความอยากอาหาร โดยทำงานเลียนแบบฮอร์โมนอิ่มตามธรรมชาติ ออกฤทธิ์ทำให้อิ่มเร็วขึ้น อาหารย่อยและดูดซึมช้าลง ค้างอยู่ในกระเพาะนานขึ้น จึงทำให้อิ่มนานจากงานศึกษาวิจัยในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่าช่วยลดน้ำหนักได้เฉลี่ยร้อยละ 10 บางรายลดได้ร้อยละ 15ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ใช้ได้ระยะยาว โดยผู้ใช้ยาส่วนหนึ่งร่างกายอาจไม่คุ้นชินกับ GLP-1 ที่เพิ่มขึ้น อาจมีอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น พะอืดพะอม อยากอาเจียน ท้องเสีย แต่ร่างกายจะปรับตัวได้ในเวลาไม่นาน ในต่างประเทศมีการใช้ยาในกลุ่ม GLP-1 มานานกว่า 10 ปีแล้ว สำหรับประเทศไทย ยาฉีดใต้ผิวหนังในกลุ่มนี้ได้รับการอนุมัติจากอย. แล้วกว่า 5 ปี เช่นกัน
คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
“อยากแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือผู้ที่พร้อมจะลดน้ำหนักเข้ามาปรึกษาแพทย์ โดยไม่ต้องรอให้ป่วยจากโรคอ้วนหรือโรคอื่น เนื่องจากผู้มีน้ำหนักตัวเกินมักมีปัญหาสุขภาพตามมามากมาย หากวันนี้เรายังมีสุขภาพดีอยู่ ก็อยากให้เริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภคหรือการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เมื่อน้ำหนักตัวลดลงก็จะลดโอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ หรือกรณีที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย อาการของโรคเหล่านี้ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งส่งผลดีในด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งรูปร่าง ความมั่นใจ สุขภาพจิต และมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย”
บทความโดย รศ.พญ.อภัสนี บุญญาวรกุล อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า