“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยุคภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว พวกเรากำลังอยู่ในยุคโลกเดือด (Global Boiling)” สหประชาชาติ (United Nations: UN) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา คือ การปล่อยแก๊สเรือนกระจกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมนุษย์และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่รุนแรง ดังนั้นประชาชนควรตระหนักเห็นถึงความสำคัญ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ลดการใช้พลาสติก ลดการเผาหรือปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึงองค์กรภาครัฐต่างๆ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันนโยบาย และข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ประชาชนนำไปปฏิบัติต่อไป
ดร.ภูวดี ตู้จินดา ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ และโฆษกกรม เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ตระหนักและเล็งเห็นถึงผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงขอแนะนำประชาชนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ภัยแล้ง ไฟป่า หรือน้ำท่วมแบบฉับพลัน รวมถึงการปรับตัวและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยมีแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพ คือ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมภายนอก หากจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี และติดตามสภาพอากาศอย่างเป็นประจำ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่มีอาการป่วย ผู้สูงอายุ หรือหญิงตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ และมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเจ็บป่วย หรือพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วนบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์โทรศัพท์ 1669
ดร.ภูวดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วศ.อว. เป็นหน่วยงานที่มีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์โครงการส่งเสริมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ “วศ. Go Green รวมพลังลดโลกร้อน ใช้ถุงผ้า แทนถุงพลาสติก” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปนำถุงผ้าและภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนถุงพลาสติกในการใช้จ่ายสินค้า โดยขอความร่วมมือร้านค้าภายใน วศ. งดใช้ถุงพลาสติก และมีจุดบริการถุงผ้าให้ยืมสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้นำมีถุงผ้ามาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมี “นโยบายห้องสมุดสีเขียวและสำนักงานสีเขียว” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักรู้ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ผ่านการสื่อสารแนวทางการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาห้องสมุดสีเขียว กิจกรรมลดและคัดแยกขยะในอาคาร Big cleaning day สื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์การประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมี “นโยบายอนุรักษ์พลังงาน” โดยบุคลากรทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการจัดการพลังงาน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประสิทธิผลในการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องและพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนต่อไป