กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ หลังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ พร้อมเร่งเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่มีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ ประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ของประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ปัจจุบัน (29 ก.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 33,599 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีก 40,363 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,879 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 16,992 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ตาก เลย และร้อยเอ็ด โดยที่ จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ คือ อ.ชาติตระการ และ อ.นครไทย มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งแม่น้ำ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำแควน้อย อ.นครไทย มีพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชุมชนได้รับผลกระทบ 8 ตำบล จำนวน 2,818 ไร่ และแม่น้ำภาค อ.ชาติตระการ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 8 ตำบล ปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำเมย และแม่น้ำภาค ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 1-2 วันนี้ ทั้งนี้ โครงการชลประทานพิษณุโลก ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว
ที่จังหวัดตาก แม่น้ำเมยได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สอด ในเขตเทศบาลนครแม่สอดและเขตเทศบาลตำบลท่าสายลวด และอ.พบพระ บ้านมอเกอร์ไทย ม.1 ตำบลวาเล่ย์ ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเมยยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังคงมีฝนตกในพื้นที่ โครงการชลประทานตาก ได้แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์ ตลอดจนทำการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จังหวัดเลย มีพื้นที่น้ำท่วมในเขตอำเภอด่านซ้าย 4 จุด ได้แก่ ตัวเมืองด่านซ้าย บ้านนาเวียง บ้านนาหอ และบ้านนาหมูม่น เนื่องจากเกิดน้ำป่าไหลหลากในลำน้ำหมันและลำน้ำห้วยศอกที่ไหลมารวมกันบริเวณ อ.ด่านซ้าย ปัจจุบันปริมาณน้ำในลำน้ำหมัน มีแนวโน้มอยู่ในระดับวิกฤต โครงการชลประทานเลย ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ พร้อมประสานไปยังผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
จังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่น้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบัน(29 ก.ค. 64) ระดับน้ำที่สถานี E.92 บ้านท่างาม อ.เสลภูมิ ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้วประมาณ 8 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ 184 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำค้างทุ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันพนังประมาณ 100 ไร่ คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในวันนี้ โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 16 เครื่อง ที่สถานีวัดน้ำสะพานบ้านค้อเหนือนางาม ช่วงรอยต่ออำเภอเมืองยโสธร และอำเภอเสลภูมิ เพื่อเร่งผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ รวมทั้งใช้ประตูระบายน้ำบุ่งเบ้า ประตูระบายน้ำกุดปลาเข็ง และประตูระบายน้ำบ้านบาก ตัดยอดน้ำเข้าไปเก็บในแก้มลิง โดยไม่ให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่การเกษตร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม มีการตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
ที่มา : กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์