วันที่ 23 เมษายน 2567 ดร.พจมาน ท่าจีน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการอบรมการดำเนินงานด้านวิชาการและงานบริการภาครัฐให้สอดคล้องกับกฎหมาย PDPA โดยได้รับเกียรติจาก นายอมรพันธุ์ นิติธีรานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล และนายชาตรี วงษ์แก้ว นักวิชาการอิสระ มาเป็นวิทยากร มีผู้เข้าอบรมในห้องประชุมฯ และระบบออนไลน์กว่า 500 คน ณ ห้องประชุมวิทยวิถี ชั้น 6 อาคาร ดร. ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
ทั้งนี้ ดร.พจมาน ท่าจีน รองอธิบดี วศ. กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สท.) ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากร วศ. ทั้งในด้านการบริหารจัดการกับข้อมูลงานวิจัยของผู้นิพนธ์ หรือนักวิจัย ซึ่งเป็นแหล่งต้นทางของวัตถุดิบในผลงานวิจัยให้มีความรู้และเข้าใจการจัดการข้อมูลอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสอดคล้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA อีกทั้ง วศ. ได้จัดทำวารสารวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ (Bulletin of Applied Sciences) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางวิชาการ การอ้างอิง และการประกอบกิจการภาคการผลิตและอุตสาหกรรม มาตั้งแต่ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2566 วศ. ได้ผลักดันวารสารวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (Bulletin of Applied Sciences) จนได้รับการรับรองคุณภาพวารสารกลุ่ม 2 และได้รับการบันทึกข้อมูลวารสารสู่ฐานข้อมูลศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Center – TCI) และผลักดันเข้าสู่การเป็นวารสารวิชาการระดับชาติ กลุ่ม 1 ต่อไป
สำหรับดำเนินงานจัดทำวารสารฯ มีความเกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัย (Research ethics) อันเป็นหลักเกณฑ์ที่ควรประพฤติปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม ตลอดจนจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ (Publication ethics) ยกตัวอย่าง การลอกเลียนวรรณกรรม หรือการคัดลอกผลงานผู้อื่นโดยไม่มีการอ้างอิงที่ถูกต้อง (Plagiarism) ซึ่ง วศ. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลตั้งแต่การจัดเก็บ รวบรวม ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีมาตรการดูแล และเผยแพร่อย่างเหมาะสม ไม่ให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงต้องวางระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหลจากการโจรกรรม (Hack) ที่อาจสร้างผลกระทบ ความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ดังนั้น การเสริมความรู้ด้านกฎหมาย PDPA ควบคู่กับการดำเนินงานด้านวิชาการและงานบริการภาครัฐ จะช่วยเสริมความมั่นใจและสร้างความเชื่อมั่นในผลงานของนักวิชาการหรือบุคลากร วศ. เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือทั้งผลงานวิชาการและงานบริการที่เกี่ยวข้องต่อไป