ข่าวมีค่า ชวนติดตามและอัพเดทสิทธิประโยชน์และขั้นตอนการขยายพื้นที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทุกจังหวัด ว่าแต่ละจังหวัดจะมีการจัดสรรและแบ่งวัคซีนอย่างไรบ้างที่เราต้องรู้
กระบวนการกระจายและฉีดวัคซีนจะใช้ “สามเหลี่ยมขับเคลื่อนวัคซีน” คือ
- Area
จัดลำดับพื้นที่ เน้นอำเภอที่เป็นจุดเสี่ยงระบาดและมีนักท่องเที่ยว โดยฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า/ เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ครอบคลุมมากที่สุดก่อน แล้วกระจายอำเภออื่นลดหลั่นลงไป
- Setting
สถานที่ฉีด อาจดำเนินการเพิ่มได้ในโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือการออกหน่วยบริการ เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยมีขั้นตอนการฉีดตามมาตรฐาน เน้นการสังเกตอาการให้ครบ 30 นาทีหลังฉีด และมีทีมแพทย์ดูแลเรื่องความปลอดภัย
- Data
ดำเนินการเรื่องข้อมูลผ่านระบบไลน์ “หมอพร้อม”
ส่วน “พื้นที่เป้าหมาย” มีดังต่อไปนี้
1. จังหวัดเป้าหมาย 22 จังหวัด จำนวน 6.4 แสนโดส
แบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่
- พื้นที่เพื่อควบคุมการระบาดของโรค 6 จังหวัด 3.5 แสนโดส
- พื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 2.4 แสนโดส โดยอาจเพิ่มกลุ่มพนักงานโรงแรม และพนักงานขับรถสาธารณะ
- พื้นที่ชายแดนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 5 หมื่นโดส เน้นผู้ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานกักตัว
2. จังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ จำนวน 1.6 แสนโดส
เพื่อซักซ้อมความพร้อมของทุกจังหวัด ก่อนเริ่มฉีดวัคซีนจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยกระจายให้จังหวัดขนาดเล็ก ประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน จำนวน 800 โดส, จังหวัดขนาดใหญ่ ประชากร 1 -1.5 ล้านคน จำนวน 1,000 โดส และจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ มีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน จำนวน 1,2000 โดส เน้นการฉีดในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า
ข้อต้องรู้เพิ่มเติม สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวด ตามปกติสามารถฉีดได้ 10 โดส โดสละ 0.5 มิลลิลิตร เนื่องจากผู้ผลิตได้บรรจุวัคซีนมาเผื่อ โดย 1 ขวดมีวัคซีนปริมาณ 6.5 มิลลิลิตร หากบริหารจัดการอย่างดี อาจฉีดได้ 11-12 โดสต่อขวด ซึ่งจะทำให้ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย จะสำรวจความต้องการผู้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามความสมัครใจ งานนี้เรามาลุ้นกันดีกว่าว่าการบริหารและจัดการในเรื่องนี้ จะสามารถทำตามที่แจ้งได้หรือไม่