กรณีที่พบว่ามีนายจ้างหักเงินเยียวยาของลูกจ้าง ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 2,500 บาท ออกจากเงินเดือน โดยอ้างว่ารัฐบาล ช่วยจ่ายเงินเดือนให้แล้ว เป็นเหตุให้ลูกจ้างขาดรายได้ที่ควรได้รับ ทำให้โซเชียลพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าสามารถทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ ?
ล่าสุด มีค่า นิวส์ ทราบจากนางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า เงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 คนละ 2,500 บาท เป็นเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง
ส่วนเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือน เป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับลูกจ้างที่ทำงานให้ ดังนั้น นายจ้างไม่มีสิทธิหักเงินเยียวยาลูกจ้างตามมาตรา 33 ที่ลูกจ้างได้รับมาหักจากค่าจ้าง การหักค่าจ้างเช่นนี้ ถือเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
จึงขอเตือนนายจ้าง ที่คิดจะหักค่าจ้าง ลูกจ้างที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ไม่ว่าลูกจ้างจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมาย สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546