นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การทดสอบห้องปฏิบัติการเป็นกระบวนการที่ส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่การประเมินคุณภาพของวัตถุดิบหรือสารประกอบที่ใช้ในการผลิต การตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การรักษาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ และการต่อยอดกระบวนการผลิตเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยเป็นที่ยอมรับระดับสากลว่าห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถจะต้องได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 แต่เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีห้องปฏิบัติการจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ส่งผลให้การทดสอบผลิตภัณฑ์หลายชนิดต้องส่งไปตรวจกับห้องปฏิบัติการในต่างประเทศที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025
กระทรวง อว. ในฐานะที่กำกับดูแลงานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ จึงมีแนวคิดในการจัดทำเกณฑ์การยอมรับความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบ และมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นหน่วยงานหลักในการให้การรับรองและยอมรับความสามารถของห้องปฏิบัติการของประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศ เช่น สมอ. อย. มกอช. กวก. เป็นต้น ในการเลือกใช้ห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถในระดับประเทศที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการขอการรับรองมาตรฐานฯ และเป็นบันไดให้กับห้องปฏิบัติการดังกล่าว ในการพัฒนาและยกระดับไปสู่การรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยตั้งเป้าหมายให้ส่งเสริมและยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการในสถาบันอุดมศึกษาฯ ของ อว. ให้ได้รับการรับรองและพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. เพื่อเพิ่มปริมาณห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถให้กับประเทศไทย พร้อมให้บริการกับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอและตรงกับความต้องการ สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายนโยบาย IGNITE THAILAND ของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่มุ่งเป้ายกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรม High Technology ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ บริการ อว. มีภารกิจหลักในการพัฒนาประเทศโดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพสินค้าและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จากการศึกษาของกรมฯ พบว่าหากภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะไปสู่การผลิตนวัตกรรมหรือสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถไม่น้อยกว่า 20,000 ห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทย์ฯ บริการ อว. พร้อมนำนโยบาย รมว.อว. ไปขับเคลื่อน ด้วยการปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจของหน่วยงาน จากการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ไปทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมคุณภาพและความสามารถของหน่วยตรวจสอบและรับรอง และถ่ายโอนกิจการด้านการบริการวิเคราะห์ทดสอบไปยังห้องปฏิบัติการเครือข่าย พร้อม ๆ กับการพัฒนาและยกระดับห้องปฏิบัติการฯ ให้มีขีดความสามารถเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ เกณฑ์การยอมรับความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบที่ กรมวิทย์ฯ บริการ อว. จัดทำขึ้นจะเป็นบันไดขั้นแรกให้กับห้องปฏิบัติการขนาดเล็กโดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาของ อว. ก้าวไปสู่ระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ยอมรับได้ เพื่อให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล สามารถเลือกใช้ห้องปฏิบัติการได้อย่างมั่นใจในความสามารถของผลการทดสอบ ขับเคลื่อนให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI)ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มและความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและนวัตกรรม ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ตลอดจนส่งผลต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของประเทศ ตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน