โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ และไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไปกระตุ้นผิวหนังให้ผลัดเซลล์เร็วขึ้น ทำให้เกิดเป็นสะเก็ดเงินขึ้น
ลักษณะของโรคสะเก็ดเงินที่สังเกตได้ มีดังนี้
- ผื่นนูนหนา
- มีสะเก็ดลอกสีขาวจำนวนมาก เป็นได้ทั้งผิวหนัง ลำตัว หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ และอวัยวะเพศ โดยผื่นส่วนใหญ่มักเป็นในบริเวณที่คนทั่วไปสังเกตได้ชัด
ซึ่งลักษณะอาการดังข้างต้นของโรคสะเก็ดเงินนั้นสังคมอาจยังไม่เข้าใจ และมีผลต่อภาพลักษณ์ทำให้ตั้งข้อรังเกียจ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความไม่มั่นใจ ไม่กล้าสู้หน้าผู้คนในสังคม ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินประมาณ 2% ของประชากร หรือ 4-8 แสนคนทั่วประเทศ และสามารถเป็นได้ทุกเชื้อชาติ ไม่เลือกเพศ อายุ เมื่อมีปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว อายุมากขึ้น อ้วนมีพุง สิ่งแวดล้อมมากระตุ้น และความเครียดจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น
การรักษาที่เหมาะสมโรคสะเก็ดเงิน คือ
- การทายาเฉพาะที่ที่ผิวหนัง
- การฉายแสงเฉพาะรอยโรค
- ในผู้ป่วยที่มีอาการมากจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ การฉายแสงอาทิตย์เทียม สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการได้ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นจำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดชีวโมเลกุลซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัย แต่มีราคาแพง ไม่สามารถเบิกได้ ผู้ป่วยต้องชำระเงินเอง ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงยา ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป โดยผู้ป่วยยังต้องทายาเป็นครั้งคราว หรือรับประทานยา ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหมือนการรักษาโรคทั่วไป
โดย นายแพทย์วรพล เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง กล่าวว่าโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง ได้ขอเข้าสู่กระบวนการรับรองการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลเฉพาะโรคหรือเฉพาะระบบ: การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญพิเศษ และระบบริการสู่ความเป็นเลิศ (Clinical Excellence) ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอย่างมีคุณภาพ และมาตรฐาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และโรงพยาบาล ฯ ได้รับการรับรองการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลเฉพาะโรคหรือเฉพาะระบบ: การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ตามมาตรฐานเฉพาะโรคหรือเฉพาะระบบ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย (ระยะเวลา 3 ปี) ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ถึง 6 มิถุนายน 2570