โควิด-19 ยังแพร่ระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศเริ่มปรับตัวและรับมือ เพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินต่อได้ โดยนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) เคยเปิดเผยไว้ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ระบุว่า ขณะที่การท่องเที่ยวยังรอวันฟื้น ในครึ่งหลังปี 2564 การส่งออกจะกลายเป็นพระเอก ประคับประคอง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว คาดว่าในปี 2564 ภาคส่งออกจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 10%
มีค่า นิวส์ จึงชวนคุณอัศวนี ปานเดย์ หรือ คุณปินตู กรรมการผู้จัดการ บริษัท Freight Rangers ผู้ให้บริการและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการในการนำเข้าและส่งออกสินค้าทั้งจากในประเทศและต่างประเทศด้วยบริการแบบครบวงจร มาแชร์ประสบการณ์ การดำเนิน “ธุรกิจตัวแทนนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศ” ในยุคโควิด ที่แม้จะได้รับผลกระทบ แต่กลับมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านต่อปี คุณปินตู มีเทคนิคอย่างไร ติดตามได้ที่นี่! SME ทันข่าว
จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัท Freight Rangers
คุณปินตู เล่าว่า เคยเป็นพนักงานขายอยู่กับบริษัทโลจิสติกส์แห่งหนึ่ง มานาน 8 ปี จนกระทั่งเจอปัญหาต่างๆ เช่น ตามเงินจากลูกค้าไม่ได้บ้าง ลูกค้ามีหนี้เสียเยอะ ประกอบกับเพื่อนที่อยู่บริษัทเดียวกันอีก 2 คน ชวนมาเปิดบริษัทด้วยกัน จึงตัดสินใจลาออก เพื่อมาลุยธุรกิจนี้กับเพื่อนๆ ในปี 2557 เช่าบ้านญาติใช้เป็นออฟฟิศ ใช้ประชุมงาน โดยคุณปินตู จะโทรหาลูกค้า ไปพบลูกค้าเอง เพื่อแนะนำตัว จนปัจจุบันปี 2564 ดำเนินธุรกิจมา 7 ปีแล้ว
อธิบายความเป็น บริษัท Freight Rangers แตกต่างจากบริษัทอื่นอย่างไร
บริษัท Freight Rangers เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย รับส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยสายการบิน และสายเรือ แบบครบวงจร มีการดำเนินพิธีการด้านศุลกากรให้ด้วย / มีบริการแพ็คสินค้า บรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยมาตรฐาน ISO9001 -2015 และยังมีเครดิตให้ลูกค้าก่อนด้วย คือ ลูกค้าสามารถนำเครดิตไปขายสินค้าให้ผู้รับสินค้า เมื่อได้เงินแล้ว จึงจ่ายคืนให้บริษัทภายหลัง แตกต่างจากสายเรือและสายการบิน ที่จะไม่ค่อยมีเครดิตแบบนี้ให้ลูกค้า
เส้นทางการดำเนินธุรกิจ พบเจออุปสรรคหรือไม่ มีวิธีรับมืออย่างไร
คุณปินตู ยอมรับว่า ช่วง 2-3 เดือนแรกของการดำเนินธุรกิจ ใช้ทุนจดทะเบียนบริษัท 3 แสนบาท เกิดภาวะหมุนเงินไม่ทัน จึงหาทางออกด้วยการหาเงินทุนเพิ่ม และโชคดีมาก ที่มีเพื่อนให้ยืมเงินมาก้อนหนึ่ง เพื่อนำมาต่อยอดทำธุรกิจต่อ กระทั่ง 3 ปีต่อมาธุรกิจก็เริ่มอยู่ตัว จึงเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1 ล้านบาท พร้อมทำมาตรฐาน ISO เพื่อให้บริษัท มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มจ้างพนักงานเพิ่มในตำแหน่งต่างๆ แต่ก็ไม่วายพบปัญหาหลายอย่าง ทั้งพนักงานใหม่มีปัญหากันเอง ไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่เข้าใจเนื้องานทำให้ลูกค้าเสียหาย ด้วยความที่เป็นนายจ้างแล้ว จากที่เป็นคนไม่ค่อยสนใจเรื่องคน ก็ต้องเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
เคล็ดลับการทำงานของคุณปินตู ที่ทำให้ บริษัท Freight Rangers เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
คุณปินตู บอกว่า “ทำให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร เราต้องหาทางให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการลูกค้า เราจะไม่ปฏิเสธลูกค้าในทันที แต่จะพยายามเสนอทางเลือกให้ลูกค้า เน้นการบริการให้มากที่สุด เพื่อที่ลูกค้าจะได้ประทับใจ และไว้ใจใช้บริการเราในระยะยาว”
ช่วงโควิด-19 บริษัท Freight Rangers ได้รับผลกระทบหรือไม่ รายได้เป็นอย่างไรบ้าง
รายได้ของบริษัทช่วงก่อนที่โควิด-19 แพร่ระบาด จะอยู่ที่ประมาณ 77 ล้านบาทต่อปี แต่พอเจอโควิด-19 แพร่ระบาด รายได้ลดลงอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี พบเจอปัญหาหลายอย่าง ประกอบด้วย
1.การส่งออกรายย่อยหายไป เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล แต่เกิดกลุ่มสินค้าใหม่ๆ แทน อย่าง หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง เป็นต้น
2.ลูกค้าใหม่ลดลง เพราะพนักงานขายของบริษัทออกไปพบลูกค้าไม่ได้ ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นลูกค้าเดิม ที่เคยใช้บริการอยู่แล้ว
3.ค่าระวางสินค้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ 1 ตู้ ราคาเมื่อก่อนอยู่ที่พันเหรียญ แต่ตอนนี้สูงถึงหมื่นเหรียญ รวมถึงการขนส่ง อย่างบางสายการบินปิดให้บริการขนส่ง ทำให้มีตัวเลือกน้อย บางครั้งแม้ราคาแพง ก็ต้องยอมใช้บริการ
4.Cash Flow (กระแสเงินสด) ไม่พอ ต้องหาเพิ่ม เพื่อใช้เป็นเครดิตให้ลูกค้า ซึ่งก็จะแก้ปัญหาโดยการขอลดเครดิตกลุ่มลูกค้าเดิม และงดให้เครดิตกลุ่มลูกค้าใหม่
5.เริ่มเจอปัญหาลูกค้าหนี้เสีย เช่น ให้เครดิตไป แต่เมื่อถึงกำหนดแล้วเบี้ยวจ่าย จนต้องถึงขั้นฟ้องร้องคดี
6.ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ราคาสูงขึ้น จากเมื่อก่อนตู้คอนเทนเนอร์มือสอง ราคาอยู่ที่ 4-5 หมื่นบาท แต่ปัจจุบัน 2 แสนบาท
เทคนิคพา บริษัท Freight Rangers ฝ่าวิกฤตโควิด
คุณปินตู แนะนำ 4 เทคนิคส่วนตัว ที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ดังนี้
1.บริหารเงินทุนให้บาลานซ์
2.รักษาฐานลูกค้าเดิม เน้นระบบให้บริการแบบ พนักงานขาย 1 คน ดูแลลูกค้า 1 คนอย่างเต็มที่ ให้สามารถติดต่อกับบริษัทได้ตลอดเวลา
3.เพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ออนไลน์ โดยสมัครเข้าสมาคมทั้งใน และ ต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนคอนเนคชันทางธุรกิจ เน้นการขายงานต่างประเทศมากขึ้น
4.ไม่ลงทุนอะไรเพิ่มเติม เพื่อลดรายจ่ายของบริษัท
ในอนาคต คุณปินตู วางแผนดำเนินธุรกิจไว้อย่างไร
หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น คุณปินตู อยากหาผู้ช่วยมาดูแลระบบงานในบริษัท ดูแลลูกค้าต่างประเทศ เพื่อให้ตัวเองมีเวลาคิดต่อยอดการบริการลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งกำหนดเอาไว้ 2 ข้อ ดังนี้
1.พัฒนาแฟลตฟอร์มอย่างเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถจองการขนส่งได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์ หรือ ส่งอีเมล์ติดต่อบริษัท ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคนทำ จึงอยากลองดู
2.อยากพัฒนาโกดังสินค้า แบบใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วย ใช้แรงงานคนน้อย
สุดท้ายอยากให้คุณปินตู ฝากแง่คิด ส่งกำลังใจ ถึงผู้ประกอบการท่านอื่น
“สิ่งสำคัญ คือ ต้องคิดบวกเข้าไว้ ไม่ว่าจะเจอปัญหา หรือ เจอเหตุการณ์อะไร ถ้าเราคิดลบ มันก็ยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ให้เปลี่ยนความคิดว่า ถ้าเรามองว่าเป็นไปได้ มันก็จะเป็นไปได้ แต่ถ้าเราคิดว่าแย่แน่ๆ ทุกอย่างก็จะแย่ตามความคิดเรา ควรมองหาทางออก แล้วลองทำดูก่อน”
ขอบคุณรูปภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/freightrangers/