โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า น้ำท่วมมักมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหาย เช่นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ง่ายมากขึ้นผ่านอากาศที่เย็นชื้นช่วงฝนตกและเมื่อมีการระเหยของน้ำจากพื้นที่น้ำท่วม ทำให้เชื้อโรคลอยอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป การสัมผัสน้ำท่วมโดยตรง หรือการใช้ของใช้ที่ปนเปื้อนน้ำ อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ก็สามารถติดเชื้อได้และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิด 8 โรคดังนี้
1.โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 ปอดบวม อาการสำคัญ ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก เสมหะ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร การป้องกัน คือ
1.1 ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
1.2 ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
1.3 เช็ดตัวให้แห้ง
1.4 หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน
1.5 หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด
1.6 ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม
1.7 ล้างมือเป็นประจำด้วยน้ำและสบู่
1.8 เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี
2.โรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค โรคบิด ไทฟอยด์และโรคตับอักเสบ ซึ่งรับเชื้อผ่านการกินอาหารหรือนำดื่่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้เข้าไปจากน้ำสกปรกหรือขาดแคลนน้ำสะอาด อาการสำคัญ ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง ใน 1 วัน นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง การป้องกัน คือ
2.1 ทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาดหรืออาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่่ ไม่รับประทานอาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึง ก่อนรับประทานทุกครั้ง ตลอดจนเลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด และมีคุณภาพ
2.2 ดื่มน้ำสะอาดเช่น น้ำจากขวดที่ฝาปิดสนิทมีเครื่องหมาย อย.หรือน้ำต้มสุก
2.3 ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก และใช้ช้อนกลางตักอาหาร เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
2.4 ห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดยตรง ถ้าส้วมใช้ไม่ได้ ให้ถ่ายลงในถุงพลาสติกปิดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปใส่ในถุงขยะ
3.โรคฉี่หนู (หรือโรคเลปโตสไปโรซิส) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ออกมากับน้ำปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข แพะ แกะ ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ลำคลองแอ่งน้ำขังเล็ก ๆ รวมทั้งพื้นดินโคลนที่ชื้นแฉะ คนจะได้รับเชื้อผ่านทาง บาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน หรือเชื้ออาจไชผ่านทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม จากการแช่น้ำนานและจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป อาการสำคัญผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงฉับพลัน (หลังลุยหรือแช่น้ำ 1 – 2 สัปดาห์) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขาหรือปวดหลัง อาจมีอาการตาแดง มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อยซึม สับสน การป้องกัน คือ
3.1 หลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน
3.2 ป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัส ถูกน้ำ โดยการสวมร้องเท้าบูธยาง
3.3 รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง โดยเร็วที่สุด เมื่อต้องลุยน้ำย่ำโคลน
4.โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนอง ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรืออับชื้นจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้าผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพองนิ้วเท้าหนาและแตกมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนผิวหนังอักเสบบวมแดง การป้องกัน คือ
4.1 หลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน
4.2 ป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสถูกน้ำโดยการสวมร้องเท้าบูธยาง
4.3 รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วย สบู่ แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด เมื่อต้องลุยน้ำย่ำโคลน
4.4 หากมีบาดแผลควรใช้ แอลกอฮอล์เช็ดแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ
5.โรคตาแดง อาการสำคัญ ตาแดง ระคายเคืองตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตา หนังตาบวม การป้องกัน คือ
5.1 ล้างด้วยน้ำสะอาดทันทีถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา
5.2 ไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรก
5.3 อย่าให้แมลงตอมตา
5.4 แยกผู้ป่วยตาแดงออกจากคนอื่นรอบตัว
5.5 ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
6.ไข้เลือดออก มียุงเป็นพาหะของโรค ที่วางไข่บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง อาการสำคัญ คือไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน การป้องกัน คือ
6.1 ระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวัน
6.2 นอนในมุ้ง
6.3 ทายากันยุง
6.4 กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำไม่ให้มีน้ำขัง
7.อุบัติเหตุไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม และการถูกสัตว์ร้ายมีพิษกัดต่อย ได้แก่ งู ตะขาบ แมงป่อง การป้องกัน คือ
7.1 ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัตเอาต์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง
7.2 เก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคม ในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ
8.โรคเครียด ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม หรือกำลังอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงที่อาจถูกน้ำท่วม อาจจะเกิดภาวะเครียด จะมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยส่วนตัว เช่น ความมั่นคงทางอารมณ์ ทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขนาดของความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความรุนแรงของความเครียด หากมีความเครียดรุนแรงทำให้การทำกิจวัตรประจำวันเสียไป นอนไม่หลับ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และแพทย์อาจให้ยาคลายเครียด ช่วยในรายที่มีอาการมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจต้องพบจิตแพทย์ตามความจำเป็น
ทั้งนี้ การดูแลตนเองเบื้องต้นในช่วงน้ำท่วมจะช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ มีค่า นิวส์ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยทุกคนด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูล รูปภาพ กรมการแพทย์