นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2568 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบัตรทองภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
2.การปรับปรุงระบบและกลไกการจ่ายของ สปสช. รวมถึงเพิ่มงบประมาณ เพื่อตอบสนองต่อเสียงสะท้อนของหน่วยบริการ
ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบัตรทอง ภายใต้ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 46 จังหวัด และจะครบทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2567 จะเป็นการเพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรม และขยายนวัตกรรมบริการต่าง ๆ เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ฯลฯ ให้มากขึ้น เพิ่มการเข้าถึงบริการของกลุ่มที่ยังไม่ใช้สิทธิรักษาตามระบบ
ส่วนบริการผู้ป่วยใน ปี 2568 งบบัตรทองประเภทผู้ป่วยในยังได้มีการเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปี 2567 เพื่อรองรับการรับบริการของประชาชนสิทธิบัตรทองที่มีโอกาสจะเพิ่มมากขึ้นจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ พร้อมกับทำให้หน่วยบริการได้รับค่าบริการเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกที่แล้ว อีกสิ่งที่จำเป็นต้องทำควบคู่กันไปด้วยตามนโยบายรัฐบาลก็คือ การดูแลประชาชนให้มากขึ้น โดยปี 2568 จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ที่เป็นการทำต่อเนื่องจากปี 2567 และ สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเข้ามาใหม่จริง ๆ
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ทำต่อเนื่อง เช่น
1.ขยายกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV)
2.คัดกรองโรคทางพันธุกรรมในเด็กแรกเกิด
3.ตรวจปัสสาวะคัดกรองมะเร็งพยาธิใบไม้ในตับ
4.สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ยาจิตเวช ฯลฯ
ส่วนสิทธิประโยชน์ใหม่ที่ได้งบประมาณมาแล้ว และจะพิจารณากันต่อ เช่น
1.การคัดกรองวัณโรคระยะแฝง
2.การให้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ
3.สายด่วนวัยรุ่น การให้คำปรึกษาทางจิตเวช (Countseling) ฯลฯ
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ส่วนการปรับระบบและกลไกการจ่ายเพื่อแก้ไขข้อติดขัดที่เกิดขึ้น จะเน้นไปที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำในกรุงเทพฯ และส่งต่อรักษาจากคลินิกฯ ไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่
ขณะที่การปรับระบบ สปสช. จะจัดสรรงบบัตรทองเหมาจ่ายรายหัวให้กับทางคลินิกเหมือนเดิม แต่จะพยายามให้ครอบคลุมประชากร 1 หมื่นคน ซึ่งถ้ามีการส่งต่อรักษาและโรงพยาบาลรับส่งต่อมีการเรียกเก็บค่าบริการ ให้คลินิกจ่ายเพียง 800 บาทตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือให้ทางโรงพยาบาลรับส่งต่อเบิกจาก สปสช. และในตอนที่คลินิกต้องตามจ่าย 800 บาทให้นั้น สปสช. จะมีการให้คลินิกตรวจสอบข้อมูลก่อนจ่ายร่วมกันด้วยว่ามีการส่งต่อไปจริงหรือไม่
อีกทั้งยังจะมีการสร้างกติกาใหม่เพื่อป้องกันกรณีคลินิกกลัวจะต้องตามจ่ายทำให้ไม่ออกใบส่งตัวให้ผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาล สปสช. จะใช้ระบบ ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปเอาใบส่งตัวจากคลินิก เพียงโทร. สายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่ประสานให้คลินิกออกใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ให้ ถ้าผู้ป่วยไปแบบไม่มีใบส่งตัว โดยมีความจำเป็นที่จะต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล อันนี้ สปสช. จะตามไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลรับส่งต่อให้ ไม่ต้องกลัว แต่ถ้าบางกรณีส่งกลับไปรักษาที่คลินิกได้ ก็จะขอให้โรงพยาบาลช่วยทำเรื่องส่งกลับ