พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ จัดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2496 และเริ่มจัดพิธีนี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร
อ่านเพิ่มเติม >> พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ 2567 ถ่ายทอดสด ที่ไหน
ต่อมาได้กำหนดให้มีการถวายพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร หลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2504
นับจากนั้นเป็นต้นมา พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามฯ ที่จัดขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ นี้ ก็ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ พระลานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันพิธีฯ จนกระทั่งปีสุดท้าย คือ พ.ศ. 2551
ล่าสุด พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ถูกจัดขึ้นอีกครั้งในรัชกาลที่ 10 โดย กองทัพไทย พร้อมใจกันจัด พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ราชวัลลภ เทิดไท้ จอมราชันย์ 72 พรรษา มหามงคล อย่างเต็มขีดความสามารถ เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคีเป็นปึกแผ่นของทหารทุกเหล่าทัพ ตลอดจนเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุดแด่องค์พระประมุขในฐานเองค์จอมทัพไท จัดขึ้นในวันที่ 3 ธ.ค.67
หมายกำหนดการของพิธี เริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น. โดยเปิดลานพระราชวังดุสิตให้แขกผู้มีเกียรติ ทูตานุทูต เข้ามาประจำยังที่นั่ง จากนั้น 15.00 น. จะมีการแสดงก่อนเวลา 3 ชุด จาก 3 เหล่าทัพ โดยกองทัพบก จะจัดแสดงไหว้ครูมวยไทย กับแมกไม้มวยไทย กองทัพเรือจะแสดงอาวุธประกอบดนตรี หรือ fancy drill กองทัพอากาศจัดการแสดง” ดรัมซีท “เป็นการต่อสู้ของนักรบไทยประกอบดนตรีโบราณ เช่นกลองสะบัดชัย ประกอบเครื่องดนตรีสมัยใหม่
จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมาประจำจุดกลางลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อทรงเป็นผู้บัญชาการกองผสม จนกระทั่งเวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินออกจากประตูพระราชวังอัมพรสถาน เข้าสู่พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อจบพิธีเวลาประมาณ 18.00 น. ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับ จากนั้นทหารรักษาพระองค์จะเปล่งเสียงทรงพระเจริญพร้อมกับ การแสดงของโดรน 200 ตัวแปรอักษรและรูปภาพ จากบริเวณกองทัพภาค 1 โดยปรากฎเป็นภาพที่บริเวณวัดเบญจมบพิตรฯทั้งนี้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจจะมีการถ่ายทอดสดพิธีดังกล่าวไปทั่วโลกให้เป็นที่ประจักษ์
กำลังพลเข้าร่วมพิธีสวนสนามจำนวนทั้งสิ้น 11 กองพัน
- กรมสวนสนามที่ 1 มีจำนวน 1 กองพัน จัดจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
- กรมสวนสนามที่ 2 จัดจากกรมนักเรียนนายร้อย 3 เหล่าทัพ
- กรมสวนสนามที่ 3 จัดจากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ กรมอากาศโยธิน กองพันทหารม้าที่ 25
- กรมสวนสนามที่ 4 จัดจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ กองพันทหารปืนใหญ่ กองพันทหารราบ
- กองพันที่ 11 จัดจากกองพันทหารม้ารักษาพระองค์ โดยมี พลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้า รักษาพระองค์
นอกจากนี้ ทางกองบัญชาการกองทัพไทย ยังได้จัดทำสารคดีสั้น 13 ตอน ผ่านสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ โดยทั้งหมดได้ผ่านพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว ประกอบด้วย
- จุดเริ่มต้นทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
- หน่วยทหารรักษาพระองค์
- ธงชัยเฉลิมพลจิตวิญญาณแห่งชัย
- ธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์
- สถาบันพระมหากษัตริย์รวมใจแผ่นดิน
- พระราชาผู้ปิดทองหลังพระ
- กษัตริย์นักการทหาร
- คธาจอมทัพไทย
- ลานพระราชวังดุสิต
- หน่วยทหารม้ารักษาพระองค์
- พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตน
- สมเด็จพระราชินีคู่บารมีจอมทัพไทย
- สถาบันกษัตริย์หลักชัยของปวงชน
ขอบคุณข้อมูล รูปภาพ วิกิพิดเดีย, กองบัญชาการกองทัพไทย Royal Thai Armed Forces Headquarters