หลังจากที่ภาครัฐตัดสินใจเริ่มเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา สิ่งที่ตามมาก็คือ “มาตรการกักกันตัว” ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด และมีการผ่อนคลายความเข้มงวดเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเปิดประเทศ ข่าวมีค่า ติดตามเรื่องดังกล่าว และนำรายละเอียดของมาตรการกักกันตัวมานำเสนอ
ที่มา
นอกจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด –19) หรือ ศบค. จะเห็นชอบต่อแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไปแล้ว ศบค. ยังได้กำหนด “มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด” เพื่อใช้ปฏิบัติสำหรับการรองรับผู้ที่จะเดินทางเข่าประเทศด้วย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไปเช่นกัน
ระยะเวลาการกักกัน
ระยะเวลาการกักกันตัว (Quarantine) สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ประกอบด้วย
- การกักกันอย่างน้อย 7 วัน : สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง
- การกักกันอย่างน้อย 10 วัน : สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบโดส
- การกักกันตัวอย่างน้อย 14 วัน : กรณีเดินทางมาจากประเทศที่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19
การตรวจหาเชื้อ
ผู้เดินทางเข้าประเทศที่เข้ารับการกักกันตัว จะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนด
- การกักกันอย่างน้อย 7 วัน :
– ทำการตรวจหาเชื้อ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 5 – 6 ของการกักตัว
- การกักกันอย่างน้อย 10 วัน : ทำการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง
– ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 3 – 5 ของการกักตัว
– ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 – 10 ของการกักตัว
- การกักกันตัวอย่างน้อย 14 วัน : ทำการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง
– ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่เดินทางเข้าประเทศไทย แต่ไม่เกินวันแรกของการกักตัว
– ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6 – 7 ของการกักตัว
– ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12 – 13 ของการกักตัว
การนับเวลากักกันตัว
พิจารณาจากเวลาที่เดินทางข้าประเทศไทย
- ตั้งแต่ 00:01 – 18:00 น.ของวัน : วันที่เดินทางเข้าประเทศนับเป็นวันแรกของการกักกัน
- ตั้งแต่ 18:01 – 00:00 น. นับวันถัดจากวันที่เดินทางเข้าประเทศ เป็นวันแรกของการกักตัว
ปรับสถานที่กักกัน
สำหรับสถานที่กักกันตัว จะมีการปรับใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะที่ 1 (1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2564) :
– เป็นระยะเปลี่ยนผ่าน ยังคงใช้สถานที่กักกันตัวทั้งหมดตามเดิม
- ระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564) : ปรับให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นและเหมาะสม ประกอบด้วย
– สถานที่กักกันของรัฐ (State Quarantine – SQ)
– สถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine – AQ)
– สถานที่กักกันในสถานพยาบาลที่รัฐกำหนด (Hospital Quarantine – HQ)
– สถานที่กักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine – AHQ)
– สถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine – OQ)
- ระยะที่ 3 (1 ตุลาคมเป็นต้นไป) :
– ปรับรูปแบบเป็นสถานที่ควบคุมไว้สังเกต และใช้มาตรการ Bubble and Seal
– อาจจะไม่ใช้การกักตัวแล้ว เพราะคาดว่าปริมาณการฉีดวัคซีนจะมีความก้าวหน้า
ตั้งเป้าผ่อนคลายการกักกัน
เป้าหมายของ ศบค. คือการผ่อนคลายมาตรการกักกันตัว ซึ่งจะค่อยๆ ลดวันกักกันใน 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 (1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2564) :
– ลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วและยังไม่ได้รับวัคซีน และเมื่อมีความพร้อม จะลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน
- ระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564) :
– ลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ทั้งผู้ทีได้รับวัคซีนแล้วและยังไม่ได้รับวัคซีน และเมื่อมีความพร้อม จะลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน
- ระยะที่ 3 (1 ตุลาคมเป็นต้นไป) :
– ไม่ต้องกักตัวในบางพื้นที่ ภายใต้เงื่อนไขที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับวัคซีนแล้ว 70% / ประชาชนได้รับวัคซีนตามเป้า / เปิดรับบุคคลจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในระยะเริ่มต้น
แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของการปรับเปลี่ยนมาตรการก็เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งให้สอดคล้องกับแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่ง ข่าวมีค่า เห็นว่า หากการฉีดวัคซีนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เมื่อบวกกับมาตรการที่วางไว้ ก็มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไทยมากขึ้นในอนาคตตามที่หลายฝ่ายตั้งเป้าไว้
ที่มา :
- Facebook : ศูนย์ข้อมูล COVID-19 : https://web.facebook.com/informationcovid19/posts/298171735134491
- บีบีซี ไทย : www.bbc.com/thai/thailand-56454569
- PPTV : www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/144707
- Thai PBS : https://news.thaipbs.or.th/content/302572