เมื่อถึงฤดูหนาวสภาพอากาศจะนิ่ง มีลมอ่อน และอุณหภูมิลดต่ำ ร่วมกับเป็นช่วงที่มีการเผาป่า หรือตอซังในการเกษตร สภาพอากาศปิด ทำให้ฝุ่น PM2.5 จะถูกสะสมอยู่บนท้องฟ้า มีปริมาณสูงกว่าปกติ และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจาก ฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นขนาดเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียทางด้านสุขภาพกับคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วม ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยทั้งในระยะเฉียบพลันและเจ็บป่วยระยะเรื้อรังโดยง่าย ผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุได้ปลอดภัยจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้
1.ติดตามสถานการณ์ PM2.5 จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
2.แจ้งเตือนภัยผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5
3.สังเกตอาการที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ของผู้สูงอายุ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุและรายงานให้ญาติของผู้สูงอายุทราบ
4.สามารถดูแลและป้องกันตนเองจาก PM2.5 ตลอดจนแนะนำการจัดสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดฝุ่นแก่ผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ กรมการแพทย์มีข้อแนะนำในการจัดสภาพบ้านให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้
1.ปิดประตู หน้าต่าง หรือช่องรูต่าง ๆ ให้มิดชิดกันฝุ่นละอองเข้ามาในบ้าน
2.ทำความสะอาดบ้านทุกวันโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหรือถู แทนการใช้ไม้กวาดหรือไม้ปัดฝุ่น
3.ไม่ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นภายในห้อง เช่น จุดธูป จุดเทียน การเผา การใช้สารเคมีในอาคาร
4.เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อากาศภายในห้องเกิดการหมุนเวียน แต่ไม่แนะนำการใช้พัดลมดูดอากาศซึ่งจะดูดเอาอากาศและฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในบ้าน
5.พิจารณาเลือกใช้เครื่องกรองอากาศอย่างเหมาะสม (ไม่ควรวางไว้ใต้เครื่องปรับอากาศ หรือติดกับพัดลม เนื่องด้วยอากาศที่ยังไม่ถูกกรองจะถูกดูดเข้าเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมก่อนเข้าเครื่องกรองอากาศ และหลีกเลี่ยงการวางเครื่องกรองอากาศไว้ใกล้ห้องน้ำ เพื่อกันการดูดความชื้นและปล่อยความชื้นออกมาทำให้ห้องอับเป็นเชื้อรา)
นอกจากการจัดสภาพบ้านให้เหมาะสมแล้ว หากพบว่าอากาศมี ค่าฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์ปกติ ควรแนะนำผู้สูงอายุให้งดการออกนอกบ้าน หรือหากจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น เตรียมยาเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น ยาประจำตัว ยาสามัญประจำบ้าน และเผ้าสังเกตอาการผิดปกติในผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะหรือ หมดสติ แนะนำให้พาผู้สูงอายุพบแพทย์ทันที