ข่าวมีค่า มีคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับการเลือกรับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์ ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้ กับสถานการณ์ที่การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนอาจสุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้โดยไม่รู้ตัว
การแพร่ระบาดในวงกว้างของเชื้อโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน นำมาซึ่งความกังวลสำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยว่าตัวเองอาจจะติดเชื้อโควิดแล้วหรือเปล่า ไม่แน่ใจว่าตัวเองอาจกำลังเป็นพาหะที่สามารถแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ ได้โดยไม่รู้ตัว ไปจนถึงความกลัวที่จะไปไหนมาไหน เพราะไม่รู้ว่าการออกจากบ้านไปตามสถานที่ต่างๆ จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อกลับมาหรือไม่
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หรืออาจจะรู้สึกสบายใจมากกว่านี้ถ้าได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ในเมื่อเรายังต้องรอวัคซีนที่ยังไม่พร้อมสำหรับทุกคน และกิจกรรมหลายๆ อย่างในชีวิตของหลายๆ คนยังต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทานหรือออกไปทำธุระต่างๆ นอกจากการ “การ์ดไม่ตก” ด้วยการระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่ สวมหน้ากาก เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้คน ไม่ไปในสถานที่เสี่ยง และหมั่นล้างมือแล้ว “การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันขอร่างกาย” ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
ด้วยเหตุนี้ “ข่าวมีค่า” จึงขอนำคำแนะนำจาก ผศ.พญ.นลินี ยิ่งชาญกุล อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเผยแพร่ เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงรู้จักสารอาหาร 4 อย่างที่เราควรบริโภค เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ได้
วิตามินซี (Vitamin C)
“วิตามิซี” เป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากภายใน โดยช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ไม่ป่วยหรือเป็นหวัดได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย เพิ่มความต้านทานต่อโรคหัวใจ และยังเป็นตัวกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิตของผิวพรรณและต่อต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
วิตามินซีจะพบในอาหารประเภทผักและผลไม้ชนิดต่างๆ ผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ฝรั่งสีชมพู, ส้ม, สับปะรด, มะขาม, ผลไม้ตระกูลเบอรี่, มะนาว, มะเขือเทศ บล็อกเคอรี่ และพริกหวาน อย่างไรก็ตาม วิตามินซีเป็นวิตามินที่สามารถละลายในน้ำ โดยที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ และจำเป็นต้องได้รับวิตามินชนิดนี้จากการรับประทาน ดังนั้นคนที่ไม่นิยมรับประทานผักและผลไม้ อาจจะต้องทานวิตามินเสริม
สังกะสี (Zinc)
“สังกะสี” เป็นแร่ธาตุสำคัญช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่เรามีมาตั้งแต่กำเนิดให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีส่วนช่วยในการทำงานของเอ็นไซม์ต่างๆ ของร่างกายถึง 200 ชนิด รวมถึงกระบวนการย่อยและเผาผลาญสารอาหารต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องการซ่อมแซมบาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ช่วยเรื่องการเผาผลาญ ช่วยเรื่องการพัฒนาและการเจริญเติบโตของเซลล์ รวมไปถึงช่วยเสริมเรื่องการรับรู้รสและกลิ่น
สังกะสีมีอยู่มากในหอยนางรม, ตับหมู, ตับไก่, เนื้อแดง, ปลาทะเลน้ำลึก ถั่วเมล็ดแห้ง และธัญพืช อย่างไรก็ตาม ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์สังกะสีได้เองตามธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องได้รับแร่ธาตุดังกล่าวจากการรับประทานทานอาหารเข้าไป
ซีลีเนียม (Selenium)
การได้ซีลีเนียมต่ำอาจทำให้ภูมิคุ้มกันตกได้ เพราะซีลีเนียมจะช่วยในการสร้างเอนไซม์กลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระหลักของร่างกาย ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ช่วยการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งไทรอยด์ฮอร์โมนมีส่วนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้อีกด้วย คนที่ไทรอยด์ต่ำภูมิคุ้มกันก็จะตกได้ง่าย
ซีลีเนียมพบมากในตับหมู, ตับวัว, กุ้ง, ไข่, เมล็ดอัลมอนด์, เม็ดมะม่วงหิมพานต์, จมูกข้าวสาลี, รำข้าว, หัวหอม, กระเทียม, มะเขือเทศ, ข้าวกล้อง และ เห็ดหอม อย่างไรก็ตาม หากรับประทานในปริมาณที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น โรคของระบบทางเดินอาหาร, เล็บเปราะ, สีผิวเหลือง เป็นต้น
วิตามินดี (Vitamin D)
“วิตามินดี” มีหน้าที่หลักในการช่วยดูดซึมแคลเซียม ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกบาง นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษ นั่นคือวิตามินดีมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ จึงมีบทบาทในการควบคุมกระบวนการสำคัญต่างๆ ในร่างกาย เช่น ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์, ป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก, เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน, ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือด และป้องกันโรคเบาหวาน ทั้งนี้ร่างกายจะผลิตวิตามินดีได้เองจากการตากแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า จึงมีผลการศึกษาวิจัยออกมาว่า คนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในโรงพยาบาลและมีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก เมื่อเจาะเลือดจะพบว่ามีวิตามินดีต่ำ
กรณีที่ร่างกายสร้างวิตามินดีได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ เราสามารถเสริมวิตามินดีได้ในสองรูปแบบ คือ วิตามินดี 2 และวิตามินดี 3 สำหรับวิตามินดี 2 จะยังไม่ออกฤทธิ์ทันที ต้องไปเปลี่ยนที่ตับและไตก่อนถึงจะออกฤทธิ์ได้ คนที่การทำงานของตับไตไม่สมบูรณ์ วิตามินดี 2 ก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่วนวิตามินดี 3 จะเข้าไปออกฤทธิ์ในร่างกายได้ทันที ดังนั้นคนที่ต้องการเสริมวิตามินดี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจะรับประทานแบบไหนจึงจะเหมาะสม
ทั้งนี้สิ่งที่ควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารก็คือ ต้องหมุนเวียนอาหารไปเรื่อยๆ ห้ามรับประทานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ มากเกินไป เช่น กินตับอย่างเดียวหรือกินเมล็ดธัญพืชอย่างเดียวจะทำให้ไขมันขึ้นได้ กินถั่วเมล็ดแห้งมากเกินไปจะทำให้มีสารโอเมก้า 6 เกินความจำเป็นของร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบเกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารหลากสี หลายชนิด หมุนเวียนกัน เพื่อให้แร่ธาตุบางอย่างไม่สะสมในร่างกายมากเกินไป รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียดวิตกกังวล ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน เมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายสมบูรณ์ นอกจากจะลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ได้อีกหลายโรคด้วย
ที่มา : Facebook : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official) : www.facebook.com/medcmuth/posts/3987578201280506