กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”
ฉบับที่ 21/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 22 (วันที่ 30 พ.ค. – 5 มิ.ย. 64)
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 18 พ.ค. 64
มีรายงานพบผู้ป่วย 171 ราย เสียชีวิต 11 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน
ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคือ อายุ 55-64 ปี และอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยส่วนใหญ่
คือ รับจ้าง รองลงมาคือ เกษตรกร ภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ นครราชสีมา และสุโขทัย ตามลำดับ”
“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการป่วยด้วยโรคไข้หูดับ โรคไข้หูดับ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis)
โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
และ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค ติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา หลังได้รับเชื้อไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 5 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน
ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อรุนแรง
ถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงที่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง
ได้แก่ ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น
เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำวิธีป้องกันโรคไข้หูดับ คือ 1.ควรรับประทานหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น และเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาวหรือสีคล้ำ ล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัส หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง ขอให้ทำให้สุกก่อนเสมอ และแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบ 2. ผู้ที่สัมผัสกับหมู โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมใส่เสื้อและกางเกงที่ปกปิดมิดชิด ใส่รองเท้าและ ถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานในคอกสุกร หลีกเลี่ยงการจับซากสุกรที่ตายด้วยมือเปล่า ล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และผู้จำหน่าย ควรจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดแผงด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย และเก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ตํ่ากว่า 10°C ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการรับประทานหมูดิบให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 30 พฤษภาคม 2564